“ไชยา” เปิดประเด็น นายกฯเพิ่มงบกลางเท่าตัวไว้ใช้จ่ายในมือ โดยไม่ผ่านสภาไร้การตรวจสอบ

(17 กุมภาพันธ์ 2564) นายไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย อภิปรายญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ประเด็นการบริหารเศรษฐกิจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า สิ่งที่เป็นหลักฐานยืนยันสถานะทางเศรษฐกิจคือตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ไม่อาจบิดเบือน แต่สามารถบอกถึงความสำเร็จหรือความล้มเหลวได้ ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย สำรวจอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ พบว่าประเทศไทยจะมีการเจริญเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือ จีดีพี ต่ำที่สุด คือ – 8 เปอร์เซ็นต์ ต่ำที่สุดในอาเซียน และธนาคารโลกประเมินว่าจีดีพีประเทศไทยจะ -8.3 เปอร์เซ็นต์ และใช้เวลาฟื้นฟูประเทศให้เหมือนก่อนมีโควิดอย่างน้อย 3 ปี ส่วนสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ปรับลดจีดีพี ปี 2564 ลงมาเหลือแค่ 2.5-3.5 เปอร์เซ็นต์ แต่ผมไม่เชื่อเพราะเครื่องยนต์เศรษฐกิจไทย ตั้งแต่การส่งออก การท่องเที่ยว การใช้จ่ายภายในประเทศ และการลงทุนภาครัฐหรือแม้แต่เอกชน ยังอยู่ในภาวะถดถอยหรือ “ดับสนิท” ทุกตัว จึงเชื่อว่าตัวเลขจีดีพีไม่น่าจะเติบโตดังพยากรณ์ดังกล่าว

นายไชยา กล่าวต่อว่า เมื่อมองย้อนกลับไปดูการจัดงบประมาณย้อนหลังไปสิบปี พบว่า ทุกรัฐบาลล้วนต่างเคยกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณมาทั้งสิ้น แต่ในยุครัฐบาลประชาธิปไตย กู้ในจำนวนน้อยและลดลง แต่เมื่อหลังรัฐประหารปี 2557 กู้เงินมาชดเชยตั้งแต่ปีละ 2 แสนล้านจนถึงปีปัจจุบันกู้เงินสูงถึงปีละ 6-7 แสนล้านบาท รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ กู้เงินมาใช้ในระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ใดๆที่จับต้องได้ และถ้าดูการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีต่อเนื่องมา 6 ปี นับคร่าวๆ น่าจะใช้งบประมาณไปแล้วไม่ต่ำกว่า 21 ล้านล้านบาท บวกเงินกู้อีก 1 ล้านบาทรวม 22 ล้านบาท แต่ผลที่ออกมาตรงกันข้ามย่ำแย่กว่าเดิม ไม่ประสบผลสำเร็จแต่ล้มเหลว

เมื่อดูรายจ่ายงบประมาณ ก็ต้องดูผลการจัดเก็บรายได้ 7 ปีงบประมาณ พบว่ามีการจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการถึง 3.3 แสนล้านบาท ซึ่งเกิดจากสถานการณ์โควิดซึ่งเข้าใจได้ จึงมีการขอกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาทไปเข้าสู่ในระบบเศรษฐกิจ และเมื่อมีการอัดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแล้วเงิน 1 ล้านล้านบาทก็ควรไปกระตุ้นหมุนเวียนเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้น แต่ปรากฏว่าเงินที่ใส่เข้าระบบไม่ได้ไปหมุนกลับมาเป็นการจัดเก็บรายได้หรือภาษีเลย เกิดปัญหาเงินสดขาดมือ และที่หนักกว่านั้น เมื่อจัดเก็บภาษีได้ลดลง ขอกู้เงินไปเยียวยา 1 ล้านล้านบาทแล้ว แต่ยังปรากฏว่าเมื่อปิดปีงบประมาณกลับยังขาดดุลงบประมาณ จึงต้องขอกู้เงิน 4 แสนล้านบาทจากสภา แต่ผมมาพบตอนหลังว่า กระทรวงการคลังไม่ได้ขอกู้เงินแค่ 4 แสนล้าน แต่กลายเป็นกู้เงิน 7 แสนล้านบาทโดยไม่ผ่านสภา โดยกระทรวงการคลังยังตอบไม่ได้และสภายังไม่รับทราบถึงการกู้เงินจำนวนนี้ ซึ่งถ้าจะทำให้ถูกกฎหมายและวินัยการเงินการคลัง รัฐบาลจะต้องนำยอดเงินกู้ที่เกินไปกว่าที่ขอต่อสภา ไปขอเป็นเงินกู้ในปีถัดไปและนำตัวเลขไปใส่ไว้ในงบประมาณให้ถูกต้องมากกว่านั้น นายกรัฐมนตรียังไปแก้ไขกฎหมายการจัดทำสัดส่วนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสัดส่วนงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน จากปกติที่นายกฯสามารถตั้งงบกลางได้ไม่เกิน 3.5 เปอร์เซ็นต์จากงบประมาณรายปี แก้เป็น 7.5 เปอร์เซนต์หรือสองเท่าจากเดิม เพื่อโอนเงินรายจ่ายเงินสำรองจ่ายมาอยู่ในมือนายกรัฐมนตรีคนเดียว เท่ากับปีที่ผ่านมานายกฯ โอนเงิน 2 แสนล้านบาทมาอยู่ในมือคนเดียวโดยไร้การตรวจสอบโดยสิ้นเชิงนี่คือสิ่งไม่ชอบมาพากล นี่คือการฉวยโอกาส

“วันนี้ประชาชนกำลังจะอดตาย ธุรกิจเจ๊งปิดตัว ประชาชนหากินลำบาก ประชาชนแย่งชิงเงินเยียวยาเหมือนรายการชิงโชค ส่งออกติดลบ ท่องเที่ยวเงียบตายสนิท คนไทยมองไม่เห็นอนาคต การบริหารจัดการประเทศแบบนี้ถ้าไม่เรียกว่าพังพินาศจะให้เรียกว่าอย่างไร” นายไชยา กล่าว