“ยุทธพงศ์” ร่ายมหากาพย์การโกงข้ามศตวรรษ ยกสัมปทานรถไฟฟ้าให้เจ้าสัว

(17 กุมภาพันธ์ 2564) นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ประเด็น ขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวอีก 40 ปี โดยกล่าวหาพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี, พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กำกับดูแลกรุงเทพมหานคร ดำเนินการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยนายยุทธพงศ์ กล่าวว่า การขยายสัญญาสัมปทานสายสีเขียว ผิดกฎหมาย พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เอื้อประโยชน์ให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยไม่เปิดประมูล ทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ โดยนายยุทธพงศ์ อภิปรายว่าเมื่อเริ่มต้นนั้น สัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งเป็นสัญญาหลัก เป็นสัมปทานในรูปแบบ PPP Net Cost คือภาครัฐลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และสนับสนุนวงเงินลงทุนบางส่วน และภาคเอกชนลงทุนค่างานโยธา ค่างานระบบและขบวนรถไฟฟ้าทั้งหมด และค่าที่ปรึกษาโครงการตลอดจนถึงเดินรถให้บริการและซ่อมบำรุง โดยสัญญาฉบับนี้มีอายุ 30 ปีกำหนดครบในปี 2573

ส่วนต่อขยายที่ 1 : เมื่อเวลาผ่านไป ก็มีการขยายต่อเติมส่วนต่อขยายที่ 1 คือสถานีตากสิน-บางหว้า และ อ่อนนุช-แบริ่ง ในรูปแบบสัญญา PPP Gross Cost คือจ้างบริษัทเอกชนบริหารเดินรถ โดยให้รัฐจัดเก็บรายได้ ซึ่งก็คือ กรุงเทพมหานคร จ้าง บ.กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งต่อจากนี้เรียกตัวย่อว่า KT และ KTก็จ้าง BTS จัดหารถและวิ่งส่วนต่อขยายส่วนที่ 1 โดยไม่เปิดประมูล สัญญาจากปี 2555-2585

ส่วนต่อขยายที่ 2 : คือด้านเหนือหมอชิต-คูคต และด้านใต้แบริ่ง-สมุทรปราการ โดยให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ก่อสร้างงานโยธา จากนั้น คสช. ได้รับทราบมติ มอบให้ กทม. ไปวิ่งรถแทน รฟม.โดย กรุงเทพมหานคร จ้าง บ.กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ซื้อรถและจัดเดินรถ KT ก็ไปจ้าง BTS จัดหาและวิ่งรถแทนจนถึงปี 2585 ด้วยวิธีพิเศษ และก็ยังไม่ได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินมาจาก รฟม.

นายยุทธพงศ์ อภิปรายต่อว่า การที่ กทม.จงใจจ้าง KT จ้าง BTS ต่อโดยไม่มีการประมูล เป็นนิติกรรมอำพราง เพื่อใช้ตัวแทนหลีกหนี พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ และ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐฯ โดยเมื่อปี 2552 คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยมีความเห็นว่า การวิ่งรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือใต้ส่วนต่อขยาย จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ซึ่งในขณะนี้ เรื่องอยู่ในการพิจารณาของ ป.ป.ช.ยังไม่มีข้อยุติ
นอกจากนี้ ในสัญญาจ้างวิ่งรถทั้งในสัญญาการร่วมลงทุนฯ(สัญญาหลัก) และ ส่วนต่อขยาย จะต้องทำตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ทั้งสิ้น แต่แทนที่รัฐบาลจะรู้และแก้ไขให้ถูกต้อง แต่กลับใช้กฎหมาย ม.44 เข้าไปนิรโทษกรรมความผิดทั้งหมดให้ถูกกฎหมาย

นอกจากนี้ การขยายสัมปทานสายสีเขียว ยังขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี โดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ให้กรุงเทพมหานครต้องจัดการรายได้ ตั้งงบประมาณในการชำระหนี้ที่รับมาจาก รฟม. ต้องกู้เงินจากกระทรวงการคลังมาจ่ายหนี้ให้เรียบร้อย ต้องดูแลราคาค่าโดยสารไม่ให้แพงและต้องเปิดประมูล เมื่อสัญญาหลักและสัญญาการร่วมลงทุนในส่วนต่อขยายสิ้นสุดลงพร้อมกันในปี 2585 แต่หลังจากมติ ครม.ปี 2561 ผ่านมาแล้ว 3 ปีกลับไม่ได้มีการดำเนินการใด

นายยุทธพงศ์ ย้ำให้เห็นชัดว่า รัฐบาลชุดนี้เอื้อประโยชน์ให้เอกชน ทำให้รัฐเสียหาย กล่าวคือ กทม.ใช้วิธีพิเศษ จัดซื้อจัดจ้าง BTS โดยไม่เปิดประมูล หลีกเลี่ยงการเข้าเงื่อนไขตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ขยายสัมปทานสัญญาหลักจากปี 2572 ไปถึงปี 2585 รวมถึงมีแนวโน้ม ที่จะจัดฉากปล่อยให้มีหนี้สินเพิ่มขึ้น เพื่อเสนอขอแลกหนี้กับการขยายสัญญาออกไปอีก 40 ปี และจากการหลีกเลี่ยงการประมูล จึงทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าโดยสารแพง เพราะถ้าไม่ขยายสัมปทานให้เอกชน ราคาค่าโดยสารจะประมาณ 158 บาท แต่ถ้าให้สัมปทาน รัฐก็เสียหายเสียสัมปทานไปเปล่าๆ และค่าโดยสารคือ 65 บาท ซึ่งก็ยังถือว่าสูงถ้าเปรียบเทียบกับราคาค่าโดยสารสูงสุดของ รฟม. ที่ 42 บาท

“ค่าโดยสารรถไฟฟ้า แม้จะราคาเหลือ 65 บาท แต่เมื่อต้องโดยสารไปกลับมากกว่า 130 บาท ก็ยังเท่ากับหนึ่งในสาม ของรายได้แรงงานขั้นต่ำที่ 300 บาท ราคาค่าโดยสารจึงยังเป็นราคาที่สูงเกินไปเมื่อเทียบกับรายได้ของแรงงานคนไทย” นายยุทธพงศ์ กล่าว