“จิรายุ” เผย “ปฏิบัติการ 16 วันทันใจนาย” ล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ประชาชนเสียหายแสนล้าน

(18 กุมภาพันธ์ 2564) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กรุงเทพ พรรคเพื่อไทย อภิปรายญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ประเด็นการล้มการประมูลสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยนายจิรายุ อภิปรายว่า รถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นโครงการตามมติของคณะรัฐมนตรี ที่ให้ดำเนินการสร้างรถไฟฟ้าเส้นมีนบุรี – ตลิ่งชัน มีระยะทาง 35.9 กิโลเมตร โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่ 1 มีนบุรี – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และส่วนที่ 2 ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – ตลิ่งชัน โดยเส้นทางดังกล่าว แบ่งเป็นสถานีใต้ดิน และสถานียกระดับบนดิน ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ออกประกาศเชิญชวนการลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (RFP) รถไฟฟ้าสายสีส้ม เปิดขายซองระหว่างวันที่ 10-24 กรกฏาคม 2563 โดยมีบริษัทเอกชนรวม 10 บริษัทซื้อซองประมูล แต่ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ ในซองประมูลเงื่อนไขว่าสงวนสิทธิ์ ยกเลิกการประมูลได้โดยไม่ต้องแจ้งเหตุผลให้ทราบ

นายจิรายุ กล่าวต่อว่า เมื่อถึงวันยื่นซองประมูล ปรากฏว่า มีบริษัทก่อสร้างเอกชนรายหนึ่ง ได้ยื่นหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ให้พิจารณาปรับปรุงการประเมินข้อเสนอเพื่อหาผู้ชนะการคัดเลือกโครงการ โดยให้ใช้ปัจจัยและผลประโยชน์ด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อเสนอด้านเทคนิค ความน่าเชื่อถือ ศักยภาพของผู้รับเหมาเข้ามาพิจารณาประกอบ มิใช่พิจารณาแค่ข้อเสนอการเงินเพียงอย่างเดียว และขอให้นำข้อเสนอดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนรัฐ ตามมาตรา 36 ซึ่ง รฟม ได้นำข้อเสนอดังกล่าว มาเข้าที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 โดยปรับสัดส่วนเกณฑ์คัดเลือก โดยให้นำข้อเสนอด้าน “เทคนิค” มาเป็นเกณฑ์ประเมินร่วมกับข้อเสนอด้าน “การเงิน” โดยที่ประชุมใช้เหตุผลว่าเป็นโครงการก่อสร้างที่ใช้เทคนิคชั้นสูง ก่ออุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาและลอดถนนพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงสุด โดยในที่ประชุม ตัวแทนจากสำนักงบประมาณ ได้ท้วงติงถึงการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การพิจารณาว่าหลักเกณฑ์เดิมที่เคยใช้มา ก็ใช้ประเมินกับโครงการที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงอย่างโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ก็ยังใช้เกณฑ์เดิม แต่ถ้าจะเปลี่ยนเกณฑ์ใหม่ จึงขอสงวนสิทธิ์ โดยกรรมการผู้แทนสำนักงบประมาณ ส่งหนังสือยืนยัน ลงวันที่ 28 กันยายน 2563 แสดงความเห็นหลักการประเมินข้อเสนอการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มว่า “ไม่เห็นด้วยกับการปรับหลักเกณฑ์”

นายจิรายุ อภิปรายต่อว่าจากผลการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ใหม่ ทำให้ บจม.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTS) ยื่นต่อศาลปกครอง โดยศาลปกครองมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์การประเมินที่แก้ไขเพิ่มเติมของ รฟม. และระบุว่ากระบวนการประมูลให้ทำต่อไปได้ โดยให้ใช้เกณฑ์เดิม จึงทำให้ รฟม. ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งทุเลาคำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด และในระหว่างรอคำสั่งอุทธรณ์นี้เอง คณะกรรมการคัดเลือกตาม ม.36 ก็ประชุมและมีมีติล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสี่ส้มเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 โดยอ้างข้อความคำขอสงวนสิทธิ์ที่เขียนอยู่ในซองประมูลนั้นเอง

“ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม 1.2 แสนล้านบาท คณะกรรมการ 8 อรหันต์ ล้วนเป็นบุคคลในกระทรวงคมนาคม มีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงการประกวดราคาได้ ใช้อิทธิฤทธิ์ปฏิบัติการ 16 วันทันใจนาย เปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูล มีผลประโยชน์แอบแฝง ใช้ทฤษฎีสมคบคิด แบ่งงานกันทำด้วยเจตนาพิเศษ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ใครบางคนหรือไม่ เป็นคำถามที่รัฐบาลนี้ต้องตอบ” นายจิรายุ กล่าวสรุป