พรรคเพื่อไทย เดินหน้าเอาผิดรัฐบาล ต่อยอดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตั้งทีมกฎหมายวางคิวเชือด “ประยุทธ์-จุรินทร์-ณัฏฐพล”
(22 กุมภาพันธ์ 2564) นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวความคืบหน้ากรณีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลที่ผ่านมาว่า จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ารัฐมนตรีหลายท่านมีปัญหาไม่สามารถตอบข้อกล่าวหาได้ พรรคเพื่อไทยจึงตั้งคณะทำงานฝ่ายกฎหมายจากพรรคร่วมฝ่ายค้านทุกพรรค เพื่อพิจารณาความผิดของรัฐมนตรีแต่ละบุคคล ว่าจะยื่นกล่าวหาใคร ลักษณะฐานความผิดใดนั้นจะมีเกณฑ์วินิจฉัยหลักอยู่ 2 กรณี คือเกณฑ์ความผิดทางอาญา และเกณฑ์ความผิดทางจริยธรรม และรัฐมนตรีท่านใดเข้าเกณฑ์มีหลักฐานเพียงพอก็จะนำหลักฐานไปยื่นให้หน่วยงานตรวจสอบที่เกี่ยวข้องตรวจสอบต่อไป แน่นอนว่า ต้องมีนายกรัฐมนตรีเป็นบุคคลหลักแน่นอน และจะไปยื่นหลักฐานที่หน่วยงานใดนั้น ก็ต้องไปดูรายละเอียดต่อไปเพราะแต่ละรัฐมนตรีฐานความผิดไม่เหมือนกันก็จะมีรายละเอียดดำเนินแตกต่างกันไป ส่วนประเด็นวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภาวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์นี้ พรรคฝ่ายค้านมีความเห็นพ้องกันว่า ในวาระ 2 พรรคเพื่อไทยยืนยันดำเนินการตามที่ได้เคยแปรญัตติไว้แล้วก่อนหน้านี้ และเมื่อเข้าสู่วาระ 3 พรรคเพื่อไทย จะได้ปรึกษาหารือกับพรรคร่วมฝ่ายค้านอีกครั้งว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านจะมีมติต่อไปกันอย่างไร
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคเพื่อไทย มุ่งเป้าไปที่นายกรัฐมนตรี เรื่องการปฏิบัติหน้าที่และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เรื่องการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ท่านถัดมา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เรื่องเกี่ยวกับการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และการทุจริต ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจะเป็นเรื่องมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง และใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ส่อไปในทางทุจริต ส่วนรัฐมนตรีท่านอื่นแม้จะยังไม่ยื่นแต่จะมีมาตรการตรวจสอบทางการเมืองต่อไป ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะตั้งคณะทำงานเพื่อสรุปประเด็นต่างๆ เพื่อนำไปสรุปเพื่อดำเนินต่อ
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้า และคณะทำงานด้านกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภาวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์นี้ว่า ที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านได้รับทราบความคืบหน้ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่าน กมธ.มาแล้วว่ามีประเด็นสำคัญอะไรบ้าง และมีการสงวนความเห็นและแปรญัตติอย่างไรบ้าง แต่วันนี้ที่ประชุมตั้งข้อสังเกตว่า กรณีที่นายไพบูลย์ นำเรื่องยื่นรัฐสภาและรัฐสภาได้ส่งเรื่องไปศาล รธน. และศาล รธน. รับเรื่องไว้พร้อมกับมีข่าวว่าจะเชิญบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐธรรมนูญ 4-5 ท่าน มารับฟังความคิดเห็นดังที่ปรากฏในข่าวเช่น นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นต้น เราเห็นว่าบุคคลดังกล่าวเหล่านั้นล้วนมีส่วนในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทั้งสิ้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้มากน้องเพียงไรควรต้องมีความเห็นที่หลากหลายจากนักวิชาการมหาชน ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญ ซึ่งในอดีตก็เคยมีผู้แสดงความเห็นไว้จำนวนมาก พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงให้คณะทำงานยกร่างหนังสือ ถึงศาลรธน. ขอความกรุณาให้ศาลได้ฟังความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิให้กว้างขวางมากขึ้นกว่านี้ เพื่อเป็นประโยชน์กับประชาชน โดยน่าจะรับฟังความเห็นจากนักกฏหมายด้านกฏหมายมหาชนและอื่นๆ ว่า รธน. นี้จะแก้ไขได้หรือไม่อย่างไร เพื่อให้การแก้ไขได้รอบคอบมากกว่านี้