“ชวลิต” ดักคอข่าวลือหนาหู ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจล่มก่อนพิจารณาวาระ 3 แต่ยังเชื่อศาลรัฐธรรมนูญจะสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศ
(28 กุมภาพันธ์ 2564) นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทยให้ความเห็นต่อข่าวลือหนาหูว่าก่อนถึงวันรัฐสภามีมติเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ในวันที่ 17 มี.ค.2564 นั้น ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาญัตติของนายไพบูลย์ นิติตะวันกับคณะ ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภามีหน้าที่และอำนาจในการแก้ไข รัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่ ซึ่งมีข่าวลือหนาหูว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจ อันจะส่งผลให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านวาระที่ 2 ไปหมาดๆ ตกไปทันที
นายชวลิต กล่าวต่อว่า จำได้ว่าเจตนารมณ์ในช่วงยกร่างแก้รัฐธรรมนูญ เราถกเถียงกันมากจนตกผลึกทางความคิดว่า พรรคเพื่อไทยจะเสนอแก้รัฐธรรมนูญโดยไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 ซึ่งก็เท่ากับแสดงเจตนารมณ์ไม่แก้ทั้งฉบับ จากนั้นเมื่อเข้ามาสู่การพิจารณาในชั้น กมธ. ปรากฎว่า กมธ.ก็มีเจตนารมณ์ชัดเจนเช่นกันว่า ไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 ดังนั้น ทั้งเจตนารมณ์ของพรรคการเมือง และเจตนารมณ์ของ กมธ.เห็นสอดคล้องต้องกันว่า การแก้ รัฐธรรมนูญปี 2560 นี้ไม่ต้องการแก้ทั้งฉบับ จึงแสดงเจตนารมณ์ไว้เป็นหลักฐานมาแต่แรกเริ่ม
ประการสำคัญต่อมาก็ คือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ได้วางบรรทัดฐานกระบวนการแก้ รัฐธรรมนูญไว้นั้น ศาล รัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยที่ 18 – 22/2555 ไว้ ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยตาม รัฐธรรมนูญปี 2550 แต่ปัจจุบัน รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ถูกยกเลิกไปแล้ว และใช้ รัฐธรรมนูญ ปี 2560 อยู่ โดยกระบวนการแก้ไข รัฐธรรมนูญล้วนเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ใน รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 256 ทุกประการ เฉพาะอย่างยิ่ง นอกจากความเห็นของพรรคการเมืองทุกพรรค, นโยบายรัฐบาล, กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ และรัฐสภา ล้วนมีความเห็นไปในแนวทางเดียวกันจนรัฐสภาพิจารณาญัตติแก้ รัฐธรรมนูญวาระที่ 2 เสร็จสิ้นแล้วดังกล่าวข้างต้น ประเด็นหรือปัจจัยสำคัญที่สุดที่ศาลรัฐธรรมนูญ ควรนำมาประกอบการพิจารณาวินิจฉัยในประการสุดท้าย เป็นความเห็นทางสังคม และความเห็นทางการเมือง ทั้งจากประชาชนในประเทศและชาวโลก นั่นก็ คือ “ความเชื่อมั่นประเทศ” แม้เป็นนามธรรม แต่ก็สำคัญยิ่งในฐานะที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประชาคมโลก กฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกติกาสูงสุดของประเทศ ถ้ากติกาที่ออกมาภายหลังการรัฐประหารไม่เป็นธรรม ไม่เป็นกลาง เอารัดเอาเปรียบกัน และไม่เป็นประชาธิปไตย เห็นได้ชัดว่ากระทบความเชื่อมั่นประเทศอย่างยิ่ง ทั้งความเชื่อมั่นของประชาชนในประเทศ ตลอดจนความเชื่อมั่นของชาวโลก ซึ่งส่งผลด้อยค่าประเทศไทยให้ตกต่ำในสายตาชาวโลกลงอย่างมาก ปัจจุบันทุกพรรคการเมืองซึ่งมาจากประชาชนล้วนมีมติเห็นชอบกับการแก้ รัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็แถลงนโยบายมีนโยบายเร่งด่วนในการแก้ รัฐธรรมนูญ รัฐสภาก็ได้ดำเนินการพิจารณาร่าง รัฐธรรมนูญของ กมธ.ในวาระที่ 2 แล้วเสร็จไปเมื่อวันที่ 25 ก.พ.2564 ที่ผ่านมา เหลือเพียงขั้นตอนให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ วาระที่ 3 ในวันที่ 17 มี.ค.2564 เท่านั้น
“ด้วยข้อมูลและเหตุผลที่ไล่เรียงมาเป็นลำดับ ทั้งนี้ ยังไม่รวมการเรียกร้องการแก้ รัฐธรรมนูญจากภาคประชาชน นิสิต นักศึกษา ผมจึงยังเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะร่วมกันหาทางออกจากปัญหา เพื่อร่วมกันสร้างความเชื่อมั่นประเทศ คลี่คลายวิกฤติรัฐธรรมนูญลงได้ ผมและประชาชนจำนวนมาก ยังมีความหวังครับว่าประเทศไทยจะมี รัฐธรรมนูญของประชาชนในเร็ววัน ไม่อยากไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ เสียทั้งเวลาเสียทั้งงบประมาณ ที่สำคัญ เป็นการดูถูกประชาชน เหมือนเล่นปาหี่ หลอกลวงกันกลางวันแสก ๆ หากญัตติแก้ รัฐธรรมนูญต้องแท้งลงเสียก่อน” นายชวลิต กล่าว