“พรรคเพื่อไทย” ชี้ “ประยุทธ์” ยิ่งอยู่ อันดับความเท่าเทียมทางเพศยิ่งตกต่ำ แนะฟื้นกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีรับวันสตรีสากล
(8 มีนาคม 2564) ผศ.ดร.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เนื่องในวันสตรีสากลแห่งชาติ ประจำปีนี้ ทั่วโลกมองเรื่องความเท่าเทียมและการลงมือทำเป็นวาระที่จะต้องผลักดันให้สตรีและทุกคนตระหนักรู้ โดยองค์การสหประชาชาติ หรือ UN มีแนวคิด Celebrate “Women in Leadership” ชื่นชมสตรีที่เป็นผู้นำ ส่งเสริมสิทธิที่เท่าเทียม รวมถึงสตรีที่เป็นแนวหน้าในการจัดการปัญหาโควิด-19 ส่วน International Woman Day หรือ IWD ได้จัดแคมเปญ #ChooseToChallenge กระตุ้นให้ผู้หญิงออกมาประกาศว่าตนเองจะเอาชนะเรื่องใด หรือต่อต้านสิ่งใด และให้ร่วมกันลงมือทำจึงจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ แต่เหตุใดผู้นำประเทศของไทยอย่างพลเอกประยุทธ์ ที่ต้องการจะเข้ามาแก้ปัญหาประเทศ แต่ยิ่งอยู่อันดับความเท่าเทียมทางเพศยิ่งตกต่ำลง หากดูรายงานของ World economic forum ที่จัดอันดับความเหลื่อมล้ำทางเพศทั่วโลก หรือ The Global Gender Gap Report พบว่า ในปี 2555 ซึ่งเป็นปีที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย อันดับความเหลื่อมล้ำทางเพศของไทยอยู่ลำดับที่ 65 แต่ในปี 2563 ที่มีพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ความเหลื่อมล้ำทางเพศของไทยตกไปอยู่อันดับ 75 ทั้งที่มีการผลักดัน พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 แล้ว แต่ไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น

ทั้งนี้ ตั้งแต่สมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ได้บรรจุแผนพัฒนาสตรีไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) ที่เน้นย้ำการยอมรับความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย แต่ผ่านมากว่า 10 ปี รัฐบาลพลเอกประยุทธ์แม้จะมียุทธศาสตร์การพัฒนาสตรี พ.ศ.2560-2564 บรรจุในพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560–2564) แต่ไม่ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเพศลดลง ทั้งที่นานาชาติรณรงค์ให้เกิดการยอมรับความหลากหลายทางเพศแล้ว นอกจากนี้อยากให้พลเอกประยุทธ์ให้ความสำคัญกับกองทุนพัฒนาสตรี ที่มีงบประมาณในการส่งเสริมอาชีพสตรีในแต่ละท้องถิ่น ให้มีศักยภาพที่จะดูแลตัวเองและครอบครัวได้ แต่พบว่าขณะนี้กองทุนนี้ไม่ได้รับการส่งเสริมต่อยอดซึ่งน่าเสียดายโอกาสของสตรี แทนที่จะลืมตาอ้าปากได้เป็นที่พึ่งให้กับครอบครัวแต่ก็ต้องสะดุดลง เพราะการบริหารที่ล้มเหลวของรัฐบาลประยุทธ์

น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ความเท่าเทียมทางเพศในบริบทของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ร่างขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจของ คสช. แม้มีบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรว่าให้ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน ห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมอันเนื่องมาจากความแตกต่างทางเพศ แต่ในความเป็นจริงค่านิยมผู้ชายมีสิทธิเหนือกว่าผู้หญิงยังคงอยู่ โดยเฉพาะการทำร้ายร่างกายที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องในครอบครัว ซึ่งตนอยากให้สังคมไทยปรับความคิดในเรื่องนี้ใหม่ นอกจากนี้ในเรื่องการทำแท้งเสรี ในรัฐธรรมนูญมาตรา 77 มีบทบัญญัติว่าบุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย แต่เหตุใดยังเอาผิดกับผู้หญิงที่ทำแท้ง เป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้ผู้หญิงเจ้าของร่างกายนั้น พิจารณาเองว่าจะทำอะไรกับร่างกายโดยมีกฎหมายรองรับและปลอดภัย และอาจถือว่าเป็นการคุมกำเนิดวิธีหนึ่ง
“น่าเสียดายที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจ ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นวุฒิสมาชิกส่วนใหญ่เป็นทหารกับอดีตข้าราชการวัยเกษียณ อาจไม่ทันได้ติดตามความก้าวหน้าของโลก ปิดหูปิดตาไม่รับฟังความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างสันติ แต่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การสะกดรอยตาม ถูกจับกุมดำเนินคดี คุกคามระหว่างการจับกุม ดังนั้น การคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของผู้หญิงจึงสำคัญในทุกมิติ เพื่อให้เป็นไปตามตัวหนังสือที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญและเป็นไปตามหลักสากล” นางสาวขัตติยากล่าว

นางสาวชนก จันทาทอง ส.ส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เกือบ 10 ปีที่พลเอกประยุทธ์ ไม่เห็นความสำคัญของสตรี ไม่มีโครงการใดเลยที่ออกมาส่งเสริมสตรีตามที่ได้หาเสียงไว้ เช่น โครงการมารดาประชารัฐ ที่จะได้รับเงินช่วยเหลือตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนถึงตอนนี้ยังไม่สำเร็จ นอกจากนี้กองทุนพัฒนาสตรี ซึ่งมีโมเดลเดียวกับกองทุนหมู่บ้าน ทำให้ผู้หญิงเข้าถึงเงินทุนนำไปพัฒนาอาชีพสร้างรายได้ จนเมื่อมีการรัฐประหารโครงการนี้หยุดชะงักไป 5 ปี ปัจจุบันกองทุนถูกโยกย้ายไปที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งทำให้สตรีเข้าถึงกองทุนได้ยาก และยิ่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้น้อยลง หากยังมีกองทุนสตรีอยู่จะช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศได้
“โครงการใหม่ก็ยังไม่ทำ โครงการเก่าก็ไม่ขับเคลื่อน อย่างนี้แล้วประเทศจะเติบโตไปได้อย่างไร” นางสาวชนกกล่าว

นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กองทุนบทบาทสตรีเป็นโครงการที่ช่วยกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น ช่วยเพิ่มบทบาทให้ผู้หญิงในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ตั้งมั่นสานต่อนโยบายที่เป็นประโยชน์กับผู้หญิงเพื่อให้ผู้หญิงมีโอกาสเท่าเทียม มีเสรีภาพในทุกภาคส่วน พร้อมยกย่องผู้นำหญิงของโลกที่ช่วยแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ได้สำเร็จ โดยเชื่อว่าหากนางสาวยิ่งลักษณ์ ยังเป็นนายกรัฐมนตรี จะเป็นแรงกระตุ้น และเป็นแรงผลักดันให้สตรีทุกคนในไทย มีกำลังใจที่ดีในการทำประโยชน์ให้ประเทศสำเร็จ

บทความที่เกี่ยวข้อง

“พิชัย” ท้วง “ประยุทธ์” ผลิตไฟฟ้าเกินมากแต่ยังจะให้ใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าเพิ่ม 5,203 เมกกะวัตต์ อีกทั้งขัดแย้งผลประโยชน์ในธุรกิจพลังงาน “กฤษฎา” แนะ “ประยุทธ์” สร้างรายได้ให้คนไทยเพิ่มก่อนคิดขายที่ดินต่างชาติ “เอกชัย” จี้ “ประยุทธ์” เร่งช่วยเหลือน้ำท่วมที่อุบลราชธานี และ ภาคอีสาน และ ช่วยฟื้นฟูหลังน้ำท่วม “จุฑาพร” ค้าน “ประยุทธ์” ทำลายฝัน คนจน และคนรุ่นใหม่หมดโอกาสเป็นเจ้าของที่ดินในบ้านเกิด คนไร้บ้านพุ่ง
อ่านต่อ
“พิชัย” เตือน “ประยุทธ์” อย่าหลอกตัวเอง มรดกประยุทธ์ เป็นภาระของคนรุ่นหลังที่ต้องมาใช้หนี้ต่อ “เลิศศักดิ์” จี้ “ประยุทธ์” เร่งลดภาระพี่น้องประชาชน และลดต้นทุนภาคธุรกิจจากภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงปัญหาราคาน้ำมัน ไฟฟ้า และ ก๊าซ “จุฑาพร” ชี้ เงินเฟ้อรุนแรง ค่าครองชีพสูง ดอกเบี้ยขาขึ้น รายได้คนไทยขึ้นไม่ทันรายจ่าย รัฐแก้ปัญหาที่ปลายเหตุด้วยบัตรคนจน
อ่านต่อ
“พิชัย” ห่วง “ประยุทธ์” รอดแล้ว แต่คนไทยจะไม่รอด ชี้ สถานการณ์เศรษฐกิจจะรุนแรงเกินความรู้ความสามารถ ยิ่งกู้มากยิ่งเจ๊งมาก แนะ เลิกการผูกขาดทุกชนิด และ วางมือก่อนชาติเสียหายหนักกว่านี้ “เลิศศักดิ์” ชี้ “ประยุทธ์” อยู่ต่อ ยิ่งรวบอำนาจ การกระจายอำนาจไม่เกิด “กฤษฎา” ชี้ “ประยุทธ์” อยู่ต่อ อุตสาหกรรมยิ่งเสื่อมถอย
อ่านต่อ