“สุทิน” เรียกร้อง สมาชิกรัฐสภา ถ้าเคารพประชาชนจริงแล้วจะทุบทำลายความหวังรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนทำไม?

(17 มีนาคม 2564) ดร.สุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรค, ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายในการประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่า วันนี้รัฐสภาต้องโหวตวาระ 3 เพื่อจะได้นำรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ดำเนินการมานี้ ไปถามความเห็นของประชาชนผ่านการทำประชามติได้ทันที ขณะนี้สมาชิกรัฐสภามีความสับสนอยู่หลายประการ ถกเถียงกันโดยเอารัฐธรรมนูญและร่างรัฐธรรมนูญหลายฉบับมาปะปนกัน นั่นคือ รัฐธรรมนูญ 60, ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม และ รัฐธรรมนูญ ‘ฉบับในฝัน’ หรือคือรัฐธรรมนูญที่จะมีการแก้ไขในอนาคต
.
ดร.สุทิน กล่าวต่อว่า ปัจจุบันเรากำลังถกเถียงกันอยู่ที่ ‘ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม’ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนี้ก็ได้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภามาแล้วสองวาระ แต่พอจะเข้าวาระที่ 3 ก็มีสมาชิกวุฒิสภาที่สงสัยในอำนาจของตัวเองว่ามีอำนาจแก้ไขหรือไม่ จึงยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของตน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยมาแล้วว่า ‘มีอำนาจทำได้’ เพียงแต่ขยายความเพิ่มเติมมาว่า หากจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องไปถามประชาชนด้วยการทำประชามติเสียก่อน เพราะประชาชนคือผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดความสับสนว่า หากต้องทำประชามติ จะต้องทำเมื่อไร อีกทั้งการประชามติต้องทำหลังลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในวาระที่ 3 ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และเมื่อ ‘ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม’ ผ่านวาระที่ 3 แล้วจึงจะมีความชอบธรรมและมีข้อมูลเพียงพอที่จะไปถามประชาชนได้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้จะแก้อย่างไร แก้เมื่อไร และจะให้มี สสร. มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ส่วนประเด็นที่ทีมกฎหมายของรัฐสภาให้ความเห็นว่าไม่ควรโหวตวาระที่ 3 เพราะจะเป็นการลงมติที่ขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญนั้น สุทิน อธิบายว่า ทีมกฎหมายของรัฐสภามีอำนาจหน้าที่เหมือนนักวิชาการนอกสภาทุกประการ ความเห็นจากทีมกฎหมายของรัฐสภาไม่ได้มีผลผูกพันในทางกฎหมาย และการลงมติในวาระที่ 3 ถือว่าเป็นกระบวนการที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ทุกประการ การไม่โหวตในวาระที่ 3 ต่างหากที่จะทำให้สมาชิกรัฐสภาอาจต้องถูกดำเนินคดี

“การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมวันนี้ ต้องยึดมาตรา 256 เท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้ขัดมาตรา 256 แต่คนที่บอกว่าให้ไปเริ่มใหม่หรือไม่ให้ลงนี่แหละที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ” ดร.สุทิน กล่าว