โฆษกเพื่อไทยแนะรัฐปรับปรุงโครงสร้างการศึกษาไทย จัดหลักสูตรการเรียนให้เอื้อต่อการอยากเรียนรู้และนำไปปรับใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เรียนเพื่อสอบเช่นทุกวันนี้
ผศ.ดร.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ในฐานะที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่ศาลปกครองกลาง ออกคำสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวกรณีที่นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 6 จำนวน 6 คนยื่นคำร้องต่อ 5 หน่วยงานด้านการจัดสอบขอให้เลื่อนการสอบทีแคส (TCAS) หรือระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ประจำปี 2564 ออกไปนั้น ถือว่าตัวแทนนักเรียนทุกคนได้ทำดีที่สุดแล้ว ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องน้อมรับคำตัดสินของศาลซึ่งว่าเป็นที่สิ้นสุด
อย่างไรก็ตามการฟ้องร้องต่อศาลของนักเรียนในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษาซึ่งเป็นหน่วยงานที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับอนาคตของนักเรียนไม่เป็นที่พึ่งที่หวังของเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการซึ่งเป็นหน่วยงานกลางที่รวมอำนาจเบ็ดเสร็จหลายเรื่องกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศ จากนี้ไปกระทรวงศึกษาธิการ ต้องปรับโครงสร้างการศึกษาทั้งระบบ จัดหลักสูตรการเรียนให้เหมาะสม เรียนแล้วต้องนำไปปรับใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เรียนเพื่อสอบ ขณะที่หน่วยงานย่อยที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอน รวมถึงการสอบ จะต้องเปิดพื้นที่รับฟังปัญหาแบบ 360 องศา ฟังความเห็นของทั้งผู้รับผิดชอบและผู้ได้รับผลกระทบ ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจต่ออนาคตของเด็กต้องมีทั้งทักษะผู้นำ และต้องเห็นใจผู้ตาม รวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบ ต้องสร้างระบบนิเวศน์การพูดคุยที่เหมาะสม หรือมี Ecosystem ที่ดี ไม่ใช่มีแต่ Ego-system เอาความคิดของตัวเองเป็นใหญ่
“ที่ผ่านมาระบบการศึกษาของไทยทำให้เด็กไม่รู้จักตัวเอง ทำให้มีไม่กี่อาชีพที่ได้รับการยอมรับ เช่น แพทย์ วิศวกร พยาบาล ครู ในขณะที่โลกยุคนี้มีอาชีพใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย จากนี้ไปหน่วยงานด้านการศึกษาต้องสร้างความรู้ความเข้าใจใหม่ให้สังคมไทยได้รับรู้ว่า ทุกอาชีพมีคุณค่าในตัวเอง หากทำได้ จะทำให้เด็กนักเรียนจะไม่จำเป็นต้องตัดสินอนาคตจากการสอบแบบนี้” ผศ.ดร. อรุณีกล่าว