“นพ ชีวานันท์” เตือน “ประยุทธ์” ชี้ประเทศกำลังดิ่งเหวเพราะกู้เงินแจกมากกว่าลงทุน แนะตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็นเช่น ตัดงบทหารจัดซื้ออาวุธ
(24 มีนาคม 2564) นายนพ ชีวานันท์ ส.ส. อยุธยา รองเลขาธิการ และ คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คณะทำงานเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยมีขอแสดงความกังวลและอยากขอเตือน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว. กลาโหม และ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจว่ากำลังพาประเทศไทยถดถอยอย่างมาก จากการที่มีนักวิชาการของทีดีอาร์ไอ ออกมาเตือนว่า รัฐบาลจัดสรรงบประมาณปี 2565 ที่มีงบลงทุนต่ำกว่าเงินกู้ชดเชยงบประมาณแบบขาดดุลเทงบลงทุนน้อยกว่าเงินกู้ ส่อสัญญาณไม่ดี เพราะหมายถึงกู้เอามาใช้จ่ายไม่เกิดการพัฒนาประเทศ ซึ่งอย่างน้อยควรนำเงินกู้ไปลงทุน เกิดผลงอกเงยเกิดการพัฒนาประเทศ แต่ไม่ใช่กู้มาเพื่อการบริโภคและเงินก็หมดไป จะทำให้มีความเสี่ยงสูง เพราะถ้าการเงินรัฐบาลล้ม หมายความว่าเราล้มกันทั้งประเทศ อีกทั้ง การจัดงบประมาณในปี 2565 มีวงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ซึ่งลดลงกว่างบประมาณปี 2564 ถึง 185,962.5 ล้านบาท หรือ ลดลง 5.66% ทั้งที่ประเทศไทยกำลังต้องการเงินทุนเพื่อฟื้นฟูพัฒนาประเทศภายหลังจากวิกฤตโควิด ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้เป็นผิดปกติ และผิดหลักการโดยที่พลเอกประยุทธ์อาจจะขาดความรู้ความเข้าใจทางเศรษฐศาสตร์เลยปล่อยให้เป็นเช่นนี้
ทั้งนี้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มีเงื่อนไขว่า ต้องมีการลงทุนอย่างน้อย 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี คือไม่ว่าภาครัฐจะมีเงินรายได้เท่าไหร่ก็ตาม อย่างน้อยขอ 20% ใช้ในการลงทุน เพื่อให้มีเงินกลับมาเข้ารัฐ ไม่ใช่นำไปใช้เพื่อการบริโภคจนหมด ให้เงินมันสูญเปล่าหายไป อีกทั้ง เกณฑ์ของวินัยทางการเงินการคลัง ยังกำหนดว่า เงินกู้ไม่ควรน้อยกว่าเงินลงทุน เมื่อกู้เงินมาจำนวนมาก แล้วนำเงินกู้ส่วนนี้ไปลงทุน ก็ยังเข้าท่าแต่ถ้ามีการกู้มากกว่าการลงทุน แปลว่ากู้มาเพื่อการบริโภค ซึ่งจะผิดวินัยทางการเงินการคลังและจะทำประเทศให้ถดถอยลงไป โดยในเรื่องนี้รัฐบาลสามารถแก้ไขได้โดยการปรับการจัดสรรงบประมาณใหม่โดยตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป ตามที่คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยเคยเสนอไว้แล้ว โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายทางการทหาร การลดการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ การลดการเกณฑ์ทหาร และค่าใช่จ่ายด้านความมั่นคงที่อาจจะยังไม่จำเป็นในช่วงนี้ออกไป อีกทั้งจัดลำดับความสำคัญของงบประมาณเสียใหม่ และนำเงินดังกล่าวมาใช้ลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มากขึ้น โดยพิจารณาว่าอนาคตของไทยจะก้าวไปทางไหน แล้วทุ่มเงินลงทุนไปด้านนั้นๆมากๆ อย่าไปยึดติดกับกรอบงบประมาณเดิม เพราะโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว หากไทยปรับเปลี่ยนไม่ทันไทยจะตกยุคหนัก ซึ่งปัจจุบันก็ตกยุคอย่างเร็วมากแล้วจากการที่มีผู้นำปัจจุบันที่ตามโลกไม่ทัน
นอกจากนี้ การจัดงบประมาณในปี 2565 ลดลงจากปี 2564 ถึง 5.66% ทั้งที่ประเทศไทยกำลังต้องการเงินลงทุนในการพัฒนาประเทศภายหลังจากวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด แสดงให้เห็นว่าพลเอกประยุทธ์ขาดความเข้าใจในสภาวะเศรษฐกิจและขาดความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์ โดยพลเอกประยุทธ์อาจจะกลัวว่าจะกู้เงินมากไป เพราะที่ผ่านมาได้กู้เงินมากอยู่แล้ว จนรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ได้รับฉายาว่า Very กู้ จึงทำให้กลัวจะถูกต่อว่าอีก เลยต้องตัดงบประมาณลงเพื่อป้องกันการโดนด่า ทั้งที่ความจริงหากรัฐบาลรู้จักใช้เงินเพื่อพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง จ่ายเงินแล้วทำประเทศพัฒนา จีดีพีขยายเพี่มสูงขึ้นไม่ใช่ใช้เงินแล้วจีดีพีขยายต่ำเตี้ยอย่างที่ผ่านมา รัฐบาลก็สามารถจะกู้เงินมาใช้จ่ายได้ตามที่จำเป็น แต่เนื่องจากในอดีต รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ใช้เงินอย่างสะเปะสะปะ เพิ่มงบการทหารทุกปี จัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์มากมายทั้งที่ไม่ได้จะไปรบกับใคร แจกเงินสะเปะสะปะ แจกแล้วก็หมดไป ไม่ได้พัฒนาประเทศ แจกเงินเพื่อรักษาความนิยมที่ตกต่ำมาตลอด โดยไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศ จึงทำให้หนี้เพิ่มสูงมาก แต่เศรษฐกิจกลับไม่ขยายตัว จึงกลัวถูกด่าเลยต้องมาลดงบประมาณ ซึ่งเป็นวิธีที่สิ้นคิด ขาดหลักการ และทำประเทศเสื่อมถอยลงไปเรื่อยๆ
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ยิ่งนานวันพลเอกประยุทธ์ยิ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้นำที่ขาดความรู้ความสามารถ ไม่สามารถนำพาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองได้ ดังนั้นจึงไม่สามารถจะชนะใจประชาชนได้ การรักษาอำนาจของตัวเองจึงต้องรักษารัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจที่เขียนขึ้นเอง ล็อกไว้เอง ไม่ให้มีการแก้ไขได้ เพื่อตัวเองจะได้รักษาอำนาจไว้ได้ เวลาประชาชนเดือดร้อนกันมากและอยากเปลี่ยนผู้นำ พลเอกประยุทธ์ยังกลับกล้าท้าทายด้วยคำพูดว่า “แก้ให้ได้แล้วกัน” หมายถึงการดูถูกประชาชนว่าให้เปลี่ยนรัฐธรรมนูญให้ได้เสียก่อน ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่าพลเอกประยุทธ์ตั้งใจเกาะรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจนี้เพื่อรักษาอำนาจ ไม่ได้มีความตั้งใจจะปรับแก้ตามที่รัฐบาลได้ทำเป็นนโยบายเร่งด่วน พอกระแสม็อบมามากก็ยอมโอนอ่อนตามโดยแกล้งยอมบอกว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ แต่พอเห็นว่าม็อบอ่อนกำลังก็ยกเลิกการแก้รัฐธรรมนูญอีกทั้งยังใช้ความรุนแรงทำร้ายม็อบจน ผบ. ตร. ต้องออกมาขอโทษ ดังนั้น ถ้าหากพรรคร่วมรัฐบาล ยังนิ่งเฉยซึ่งเท่ากับเห็นดีเห็นงามด้วย ประชาชนจะจดจำไว้ว่าพรรคการเมืองไหนได้ทำอะไรไว้ในช่วงนี้ เพื่อลงโทษพรรคการเมืองนั้นๆในอนาคตเมื่อมีการเลือกตั้งใหม่