“วรสิทธิ์” หวั่น “โกดังพักหนี้” เอื้อแต่กลุ่มทุนรายใหญ่ แต่ผู้ประกอบการทั่วไปเข้าไม่ถึงเงินกู้
(25 มีนาคม 2564) นายวรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน คณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากวิกฤติโควิด-19 ที่ระบาดไปทั่วโลก ส่งผลให้ ผู้ประกอบการธุรกิจได้รับผลกระทบ ธุรกิจล้มระเนระนาดทั้งประเทศ ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมาขออนุมัติสภาเพื่อออกพระราชกำหนดเงินกู้จำนวน 1.9 ล้านล้านบาท โดยมีการกันเงินจำนวน 500,000 ล้านบาท เพื่อนำมาปล่อยกู้ไห้กับผู้ประกอบการเพื่อฟื้นฟูธุรกิจ ผ่านธนาคารพาณิชย์ โดยขณะนี้ผ่านไป 1 ปี เงินกู้จากพ.ร.ก.ที่จะช่วยผู้ประกอบการ กู้เพื่อฟื้นฟูธุรกิจ จำนวน 500,000 ล้านบาท แต่สามารถปล่อยเงินกู้ให้ผู้ประกอบการได้เพียง 100,000 กว่าล้านเท่านั้น เหลือเงินมากกว่า 300,000 ล้านบาท ปัญหาที่ตามมาคือ ผู้ประกอบการเข้าไม่ถึงเงินกู้ เพราะธนาคารพาณิชย์เลือกจะปล่อยกู้ให้กับลูกค้าของธนาคารที่มี ฐานธุรกิจดีเท่านั้น แต่ผู้ประกอบการรายใดที่ไม่เคยเป็นลูกค้าของธนาคารจะไม่ได้รับการช่วยเหลือ เพราะทั้งนี้เงื่อนไขเงินกู้ที่แบงก์ชาติตั้งไว้ส่งผลให้ผู้ประกอบการเข้าไม่ถึงเงินกู้
นายวรสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า กรณีที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจวงเงิน 250,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ภายใต้โครงการโกดังพักหนี้ หากสามารถปล่อยสินเชื่อได้จริง ตรงกลุ่มเป้าหมายก็สามารถช่วยผู้ประกอบการได้ แต่หวั่นใจว่าธนาคารจะปล่อยเงินกู้จำนวนนี้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่เป็นบริษัทในเครือของนายทุนใหญ่เท่านั้น เงินช่วยเหลือก็ล้มเหลวรอบ 2 ไม่ต่างจากรอบแรก คือผู้ประกอบการไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ได้ ทั้งนี้ การจะช่วยเหลือผู้ประกอบการ รัฐต้องไม่ตั้งเงื่อนไขที่ยุ่งยากและไม่เลือกปฎิบัติช่วยเฉพาะผู้ประกอบการชั้นดี เพราะหากทำเช่นนั้นเงินกู้จำนวน 250,000 ล้านบาท จะล้มเหลวรอบ 2 เพราะไม่สามารถที่จะกู้ช่วยผู้ประกอบการได้