โฆษกเพื่อไทย ชี้รัฐบาลไม่เห็นหัวประชาชน – เลือกปฏิบัติ เหตุสลายชุมนุม 28 มี.ค.พร้อมเรียกร้อง “ประยุทธ์” แสดงท่าทีชัดเจนต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนในเมียนมา

(29 มีนาคม 2564) ผศ.ดร.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มีความกังวลการสลายการชุมนุมของประชาชนเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ไม่เป็นไปตามหลักสันติวิธีสากลและไม่มีความชอบธรรม เพราะเป็นการชุมนุมโดยสงบตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ การจับกุมผู้ชุมนุมในลักษณะของการกวาดล้างรวบตัวไปนั้นถือเป็นการกระทำที่ไม่เห็นหัวประชาชน ซ้ำยังมีการเผยแพร่การตรวจพบสิ่งของและยาเสพติดโดยที่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงข้อเท็จจริง และยังเป็นการใช้อำนาจของรัฐภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่เลือกปฏิบัติ เพราะในเวลาเดียวกันมีการจัดงานอีเวนต์อย่างงานรัตนโกเซิร์ฟ ที่รวบรวมคนในงานไว้จำนวนมากแต่ไม่มีการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในงานนี้แต่อย่างใด

สำหรับการสลายการชุมนุมครั้งนี้มีกระแสข่าวว่าเหตุผลเบื้องหลัง คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้สั่งการตรงไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดำเนินการสลายการชุมนุม เนื่องจากผู้ชุมนุมได้ตะโกนขับไล่นายกรัฐมนตรีอยู่เป็นประจำ รวมทั้งในวันอังคารที่ 31 มีนาคมนี้จะมีการถ่ายรูปเป็นที่ระลึกของรัฐมนตรีใหม่ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง ทำให้ผู้มีอำนาจทั้งหลายกังวลว่า ผู้ชุมนุมอาจส่งเสียงรบกวนการถ่ายรูปที่ระลึกดังกล่าว ซึ่งเหตุผลนี้ไม่อาจยอมรับได้และจะยิ่งสร้างบรรยากาศของความตึงเครียดให้กับฝ่ายต่างๆ ในสังคม จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายและลดละการใช้ความรุนแรงกับประชาชนทันที

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลลดการแสดงออกซึ่งการสนับสนุนกองทัพเมียนมา ซึ่งใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมาหลังเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมา พลเอกประยุทธ์ ได้ให้การต้อนรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเมียนมา จนทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องท่าทีของรัฐบาลไทย รวมทั้งกองทัพไทยยังไปมีส่วนกับการลำเลียงข้าวสาร 700 กระสอบบริเวณชายแดนอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งจะถูกนำไปสนับสนุนกองกำลังทหารเมียนมาในการปราบปรามประชาชน และล่าสุดการที่ไทย เป็นประเทศไม่กี่ประเทศที่ส่งผู้แทนเข้าร่วมการสวนสนามของกองทัพเมียนมาในวันสถาปนากองทัพเมียนมา ทำให้ท่าทีของรัฐบาลไทยภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ น่าเป็นห่วงว่าอาจถูกมองเป็นส่วนหนึ่งที่ให้การสนับสนุนการใช้ความรุนแรงในการกดปราบประชาชนชาวเมียนมาด้วย

ขณะนี้ประชาคมโลกกำลังจับตาและร่วมกันประณามการใช้ความรุนแรงกับประชาชนในเมียนมา รวมทั้งสถานการณ์ล่าสุดที่มีชาวเมียนมาได้หลบหนีความรุนแรงเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการชี้แจงจากรัฐบาลไทยว่าจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างไร ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแสดงท่าทีที่ชัดเจนต่อเหตุการณ์ความรุนแรงในเมียนมา เนื่องจากขณะนี้ได้ยกระดับกลายเป็นเรื่องของการละเมิดหลักมนุษยธรรมและเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งเป็นข้อยกเว้นของหลักการไม่แทรกแซงในกิจการภายในของประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ