“ศูนย์นโยบายเพื่อไทย” ชำแหละ 2 มาตรการใหม่ “สินเชื่อฟื้นฟู-พักทรัพย์พักหนี้” : บทเรียนที่รัฐบาลไม่จำ

(1 เมษายน 2564) ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย แถลงถึง 2 มาตรการทางการเงินใหม่ของรัฐบาล ได้แก่ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และพักทรัพย์พักหนี้ ภายใต้วงเงิน 350,000 ล้านบาท ว่า “มาตรการสินเชื่อพื้นฟู” วงเงิน 250,000 ล้านบาท มาแทนที่เพื่อแก้ไข Soft Loan ที่ล้มเหลว โดยผ่อนปรนเงื่อนไข 5 ด้าน เช่น เพิ่มลูกหนี้ใหม่ ขยายวงเงิน ยืดเวลา ปรับอัตราดอกเบี้ย และปรับกลไกค้ำประกันสินเชื่อ

หากมองย้อนกลับไป ความล้มเหลวของ Soft Loan เกิดจาก 2 ส่วน คือ 1. คนเดือดร้อนเข้าไม่ถึงสินเชื่อเพราะติดที่เงื่อนไข และ 2. ถึงผ่านเงื่อนไขแต่ธนาคารพาณิชย์ปฏิเสธ เพราะธนาคารไม่คุ้มเสี่ยง

มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูนี้แก้ในส่วนแรก คือทำให้คนผ่านหลักเกณฑ์มากขึ้น สามารถเข้าคิวขอรับสินเชื่อได้มากขึ้น แต่ปัญหาสำคัญสุดของ Soft Loan ที่ผ่านมาคือตัวธนาคารพาณิชย์ที่ไม่คุ้มเสี่ยงจึงไม่ปล่อยกู้ ซึ่งเป็นคอขวดสำคัญของความล้มเหลว ซึ่งไม่ได้ถูกแก้ไขจากมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูใหม่นี้ ทำให้ลูกค้าที่ผ่านเงื่อนไขก็ขอสินเชื่อไม่ผ่านต่อไป

สภาพคล่องหรือสินเชื่อสำคัญที่สุดในภาวะวิกฤต แต่ประเทศไทยกลับขาดกลไกการส่งผ่านสินเชื่อ มาเกือบ 1 ปีเต็มๆแล้ว มาวันนี้จะแก้ไขก็ไม่ถูกจุด ถึงมีบทเรียนจาก Soft Loan แต่กลับเป็นบทเรียนที่รัฐบาลไม่จำ ผมมองเห็นอนาคตว่านี่จะคือ Soft Loan ที่ล้มเหลวภาค 2

“มาตรการพักทรัพย์พักหนี้” หรือ Asset Warehousing วงเงิน 100,000 ล้านบาท พูดง่ายๆมันคือการตีโอนทรัพย์ค้ำประกันให้เจ้าหนี้หรือธนาคารเพื่อตัดหนี้คงค้าง ตรงนี้ไม่มีอะไรใหม่ เป็นกระบวนการปกติของธนาคารอยู่แล้ว ที่เพิ่มมา คือ เงื่อนไขซื้อคืนโดยลูกหนี้มีสิทธิ์คนแรก และสามารถเช่ากลับมาดำเนินกิจการได้ เห็นความแตกต่างอยู่ 2 ประเด็นนี้เท่านั้น

เงื่อนไขที่เพิ่มมาไม่ได้มีนัยสำคัญอะไร ตราบใดที่คนตัดสินใจจะรับตีโอนทรัพย์คือธนาคารพาณิชย์เจ้าหนี้ ซึ่งที่สุดแล้วก็จะเลือกรับโอนเฉพาะสินทรัพย์คุณภาพดี ซึ่งลูกหนี้กลุ่มนี้ก็ไม่ได้ต้องการเข้าโครงการ เพราะมีสายป่านยาวกว่า ทุนใหญ่กว่า และมีช่องทางระดมทุนแบบอื่นนอกจากสินเชื่ออยู่แล้ว ที่เข้าโครงการส่วนใหญ่จึงเหลือแต่สินทรัพย์คุณภาพแย่ ที่มีปัญหา ทำเลไม่ดี เสื่อมโทรม ขายไม่ออก ซึ่งเหล่านี้ธนาคารก็ไม่อยากได้ อีกทั้งกลุ่มนี้ลูกหนี้จะไม่มีกำลังซื้อสินทรัพย์คืนด้วย ทรัพย์สินแย่เหล่านี้จึงตกเป็นภาระของธนาคาร ปลายทางของมาตรการนี้ คือ สินทรัพย์ดีคนไม่ตีโอน สินทรัพย์แย่เข้าคิวรอ แต่ธนาคารไม่ต้องการ จึงจะเป็นอีกมาตรการที่ล้มเหลว และยอดไม่เดิน

นอกจากนั้นมาตรการนี้พุ่งเป้าไปที่เจ้าของโรงแรม ที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน แต่ภาคบริการนั้นใหญ่กว่าคำว่าธุรกิจโรงแรมมาก ธุรกิจเช่น มัคคุเทศก์ รถรับจ้าง แม่ค้าขายของนักท่องเที่ยว สายการบิน ธุรกิจเดินเรือ นวดสปา หาบเร่แผงลอย ต่างๆเหล่านี้เข้าโครงการนี้ไม่ได้ เพราะไม่มีอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน

โดยสรุปผมมองว่า

  1. “สินเชื่อฟื้นฟู” ปัญหาคอขวดที่กลไกธนาคารพาณิชย์ไม่ปล่อยกู้เพราะไม่คุ้มเสี่ยง ยังไม่ได้รับการแก้ไข เหมือนเอา Soft Loan มาเกา แต่ไม่ถูกที่คัน
  2. “พักทรัพย์พักหนี้” ไม่มีอะไรใหม่ เกิดปัญหาสินทรัพย์แย่รอคิว แต่ธนาคารไม่อยากได้ ไม่รับตีโอน และธุรกิจที่ไม่มีอสังหาริมทรัพย์ค้ำประกันถูกลอยแพ ไม่ได้รับการช่วยเหลือ