โฆษกเพื่อไทย จี้ รัฐปรับโครงสร้างการศึกษาไทย 3 มิติ ไปสู่สังคมแห่งความคิดสร้างสรรค์ หลังดัชนีเสรีภาพทางวิชาการลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
(1 เมษายน 2564) ผศ.ดร.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่เครือข่ายสถาบันวิชาการระดับนานาชาติในสหรัฐอเมริกา (Scholar at Risk : SAR) รายงานว่า ดัชนีเสรีภาพทางวิชาการ (AFi) ของไทยตกต่ำที่สุดใน 41 ประเทศทั่วโลก นับตั้งแต่หลังรัฐประหารในปี 2557 โดยดัชนีลดลงจาก 0.52 ในปี 2556 เหลือ 0.13 ในปี 2562 ซึ่งถือว่าเป็นระดับต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีมา สะท้อนว่า ระบบการศึกษาไทยถูกกดทับด้วยอำนาจการบริหารจากรัฐบาลเผด็จการแปลงร่างที่ถนัดสร้างความกลัวผ่านการใช้อำนาจทั้งในและนอกสถานศึกษา แม้อยู่นอกห้องเรียน ผู้เรียนยังถูกอำนาจรัฐตามมาจัดการเก็บกวาดการแสดงออกทางความคิดด้วยความรุนแรงมาโดยตลอด ทั้งที่การแสดงออกของเด็กและเยาวชนมีทั้งเรื่องของการปฏิรูปการศึกษา ความยากจน ปัญหาของเสียงที่ไม่ได้ถูกตอบรับโดยรัฐ และแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย เหล่านี้คือหนึ่งในการแสดงออกทางเสรีภาพทางวิชาการในมุมของผู้เรียนที่รัฐบาลไม่มีความรู้ความเข้าใจที่แก้ไขและปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้น
ผศ.ดร.อรุณี กล่าวอีกว่า เสรีภาพทางวิชาการของไทยจะต้องเร่งแก้ไขด้วยการรื้อถอนระบบความคิดด้านการศึกษาใหม่ 3 มิติ ได้แก่ 1. มิติของผู้กำกับดูแลกุมอำนาจการศึกษาอย่างกระทรวงศึกษาธิการ ต้องไม่จำกัดเสรีภาพทางวิชาการ ต้องเปิดโอกาสให้ทั้งผู้สอนและผู้เรียนได้ค้นคว้าหาความรู้ทางวิชาการและเสนอองค์ความรู้ใหม่ที่อาจยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับในสังคมหรือเป็นประเด็นที่อ่อนไหว เพื่อเปิดมุมมองการเรียนรู้ โดยไม่มีการข่มขู่ว่าจะลงโทษหรือไม่ต่อสัญญาจ้างครูเพื่อป้องปรามการค้นคว้าทางวิชาการ 2.มิติของผู้สอน ต้องมีเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่ทางวิชาการทุกด้าน ไม่ถูกครอบงำด้วยทัศนคติความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่าง ตัวผู้สอนเองจะต้องเลิกใช้อำนาจหรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการสอนเด็ก และ 3.มิติของผู้เรียน ต้องสามารถแสดงออกได้โดยอิสระทุกด้าน (Freedom of Expression)เพราะการแสดงออกคือจุดเริ่มต้นของการแลกเปลี่ยนและได้มาซึ่งความคิดสร้างสรรรค์ เพราะความคิดสร้างสรรค์จะนำมาซึ่งการมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ
“ครูผู้สอนคือสารตั้งต้นที่ช่วยดันหลังนักเรียนให้ไปสู่ปลายทางฝันได้ สถาบันการศึกษา ก็ควรเป็นเสาหลักในการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า ไม่ใช่เสาค้ำยันอำนาจเผด็จการฉุดประเทศให้เสื่อมถอยผ่านการปิดกั้นเสรีภาพทางการศึกษาอย่างที่เป็นเช่นทุกวันนี้ ” ผศ.ดร.อรุณี กล่าว