“โฆษกเพื่อไทย” ชี้ พปชร. ยื่นแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา เพื่อยื้อเวลาสืบทอดอำนาจ

(2 เมษายน 2564) ผศ.ดร.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีพรรคพลังประชารัฐเตรียมยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 5 ประเด็น 13 มาตรา ต่อรัฐสภาในวันที่ 7 เมษายนนี้ว่า ข้อเสนอการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าส่วนใหญ่เป็นเรื่องทางเทคนิคที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาแล้วเมื่อครั้งร่างรัฐธรรมนูญ 2560 เช่น เรื่องบัตรเลือกตั้งใบเดียว และการคิดคำนวณสูตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่แก่นของปัญหากลับไม่ถูกหยิบยกมาแก้ไข คือ เรื่องหลักการประชาธิปไตยในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะที่มา ส.ว. ที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนและมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นเครื่องมือในการค้ำยันอำนาจให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มาจนถึงทุกวันนี้ รวมถึงแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ ดังนั้นการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของพรรคพลังประชารัฐครั้งนี้ จึงเป็นเพียงการพยายามรักษาผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง ยื้อเวลาตบตาประชาชนแบบศรีธนญชัยที่มีเป้าหมายในการสืบทอดอำนาจเท่านั้น

โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาพรรคพลังประชารัฐ ร่วมมือกับ ส.ว. คว่ำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ในวาระ 3 กลางที่ประชุมรัฐสภา ปิดโอกาสปิดหนทางที่พี่น้องประชาชนจะได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนและสร้างประชาธิปไตย ข้อเท็จจริงนี้ประชาชนทั้งประเทศรับรู้เช่นเดียวกัน แล้ววันนี้จะมายื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรายิ่งแสดงให้เห็นความไม่จริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และถูกสังคมตั้งคำถามถึงวาระซ่อนเร้นที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังการกระทำครั้งนี้ ที่ผ่านมาพฤติกรรมของรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐต่อการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประชามติ มีท่าทีที่จะไม่ยอมให้ผ่านการพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา ซ้ำรอยร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมอีกครั้ง จึงเป็นสิ่งที่ตอกย้ำอย่างชัดเจนถึงความไม่จริงใจของรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐ ที่ไม่ได้ต้องการให้อำนาจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทย มีเป้าหมายในการสร้างประชาธิปไตยมาโดยตลอด การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะต้องนำไปสู่การสร้างประชาธิปไตยให้ประชาชนเช่นกัน โดยในสัปดาห์หน้าแกนนำพรรคและ ส.ส.จะมีการหารือกันเพื่อสรุปแนวทางในการผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและสร้างประชาธิปไตย รวมทั้งแนวทางในการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา ให้ผ่านออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมาย เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะสามารถนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ในอนาคต