The Change Maker ไปต่อ 5 จังหวัดลุยพื้นที่จริง รับฟังปัญหา หาทางแก้ไขเพื่อสร้างนโยบายในอนาคตที่สอดรับการเปลี่ยนแปลงของโลก

(5 เมษายน 2564) นายคณาพจน์ โจมฤทธิ์ ผู้อำนวยการโครงการ The Change Maker กล่าวว่า หลังจากที่ผู้เข้าร่วมโครงการได้เข้าอบรมเชิงปฏิบัติการและบูธแคมป์ทำกิจกรรมนำเสนอแนวคิดที่สามารถพัฒนาเป็นนโยบาย แล้ว ในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้นำผู้เข้าร่วมโครงการลงพื้นที่จริง รวม 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ อุบลราชธานี อุดรธานี พระนครศรีอยุธยา และกรุงเทพมหานคร ร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการและสมาชิกพรรค โดยได้แบ่งผู้เข้าร่วมโครงการออกเป็นกลุ่มตามนโยบายกำหนด เพื่อนำปัญหามาสู่การหาวิธีแก้ไขที่เป็นรูปธรรมและเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศและระดับโลก

โดยที่จังหวัดเชียงใหม่ มีแนวนโยบาย 5 ด้านได้แก่ 1.เชียงใหม่ สมาร์ท ซิตี้ 2. เชียงใหม่ Agreement 3.กลุ่มขนส่งสาธารณะ 4.กลุ่มการศึกษาออกแบบได้ และ 5.กลุ่มล้านทุนไทยช่วยไทย โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองหัวหน้าพรรค นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ ผศ.ดร.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรค นายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ สมาชิกพรรค ลงพื้นที่รับฟังการแก้ปัญหาฝุ่นกับนายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพูดคุยกับกลุ่มผู้ประกอบการรถแดง ผู้ประกอบการตลาดวโรรส เพื่อศึกษา และสอบถามปัญหาของผู้ประกอบการ

ส่วนที่จังหวัดอุบลราชธานี ผู้เข้าร่วมโครงการพร้อมด้วยนายเกรียง กัลป์ตินันท์ รองหัวหน้าพรรค นายสมคิด เชื้อคง นางสาวกิตติ์ธัญญา วาจาดี นายวรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ นายรัฐกิตติ์ ผาลีพัฒน์ นายประภูศักดิ์ จินตะเวช นายเอกชัย ทรงอำนาจเจริญ ส.ส.อุบลราชธานี ลงพื้นที่ศึกษาการปลูกพริกออร์แกนิคส่งออก รวมทั้งกระบวนการผลิตผ้าไหมแบบครบวงจร เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการนำไปคิดค้นแนวทางต่อยอดสินค้าหัตถกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยดีไซน์และเทคโนโลยี

ขณะที่ทีมอุดรธานี ลงพื้นที่ตำบลนาดี ตลาดผ้านาข่า ศูนย์รวมผ้าที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของอีสานตอนเหนือ และบ้านดงทรายทอง ร่วมกับนางเทียบจุฑา ขาวขำ ส.ส.อุดรธานี นายศราวุธ เพชรพนมพร รองเลขาธิการพรรค นายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ. และนายดวงฤทธิ์ บุนนาค
เพื่อศึกษาการทอผ้าพื้นเมือง พร้อมรับฟังปัญหายาเสพติดและความยากจนของประชาชนที่กำลังเป็นปัญหาหนักที่สุดของจังหวัด

 

ส่วนในกรุงเทพมหานคร ได้เดินทางลงพื้นที่เขตลาดกระบังบริเวณชุมชนเคหะร่มเกล้าพูดคุยปัญหากับผู้นำชุมชนคลองสองต้นนุ่น ในด้านการศึกษา ยาเสพติด ผังเมือง และด้านสาธารณสุข พร้อมลงพื้นที่ชุมชนคลองเตย โดยได้ร่วมพูดคุยกับมูลนิธิดวงประทีป นำโดยครูประทีป อึ้งทรงธรรม โดยมีนางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.
และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เพื่อเห็นถึงปัญหาของชุมชน ชีวิตความเป็นอยู่ และการดำรงชีวิตของประชาชน

ส่วนการลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เข้าไปศึกษาดูงานภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีส่วนในการสร้างรายได้เข้าประเทศ ร่วมกับนายวิทยา บุรณศิริและนายนพ ชีวานันท์ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา โดยพบว่า ภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขาดแคลนแรงงาน ระดับ ปวช.และ ปวส.ด้าน เครื่องกล ด้านการออกแบบซอฟแวร์ วิศวกรรมพื้นฐาน ส่วนอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานทั่วไปขาดแคลนแรงงาน เพราะขั้นตอนการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว มีความยุ่งยาก เป็นต้น

ทั้งนี้โครงการ The Change Maker จะนำปัญหาและความคิดเห็นจากการลงพื้นที่ทั้งหมดเพื่อมาทำกิจกรรมแฮกกาธอน (การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ภายในระยะเวลาอันสั้น) ในวันที่ 23-25 เมษายนนี้