“จิรายุ” นำเรื่องการล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เข้าสู่การพิจารณาคณะกรรมาธิการกิจการศาลฯ สงสัยว่ามีไอ้โม่งที่ไหนได้ประโยชน์
(5 เมษายน 2564) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ประธานคณะกรรมาธิการกิจการศาลองค์กรอิสระองค์กรอัยการรัฐวิสาหกิจองค์การมหาชนและกองทุน เปิดเผยว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน 2564 เวลา 09.30 น. คณะกรรมาธิการกิจการศาล ฯ จะนำเรื่องการล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มที่มีเหตุล้มประมูลอย่างมีเงื่อนงำ จนนำไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เข้าสู่การพิจารณา
ทั้งนี้หลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ประชาชนให้ความสนใจ และ คลาบแคลงใจว่า เหตุของการล้มประมูลครั้งนี้ เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมโครงการที่ศึกษามาเป็นสิบปี มีกฎระเบียบมากมาย มีกฎหมายชัดเจนในรูปแบบการดำเนินโครงการ แต่กลับมาเปลี่ยนรูปแบบกลางคัน ทำให้สงสัยว่ามีไอ้โม่งที่ไหนได้ประโยชน์ จึงนำไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ และรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบยังตอบในที่ประชุมสภาไม่เคลียร์
ส่วนเหตุที่ตนยังไม่ได้ยื่นเรื่องเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ที่เกี่ยวข้อง ในฐานะผู้อภิปรายไม่ไว้วางใจในเรื่องดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีผู้ควบคุมดูแล ผู้บริหารกระทรวง ผู้ว่าการฯ และผู้บริหาร รวมทั้งกรรมการตาม ม.36 ของ พรบ.ร่วมทุนต่อ ปปช. หรือ ศาลอาญาทุจริตนั้น ก็เนื่องจากยังมีองค์ประกอบ ที่ต้องสืบค้น และพิจารณาเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มพยานหลักฐานสำคัญ ก่อนการยื่นร้องทุกข์ กล่าวโทษ
นายจิรายุกล่าวต่อไป ว่าโครงการนี้มีการศึกษามาเป็นสิบปี ศึกษารายละเอียดทางเทคนิค การประเมินความเสี่ยงสารพัดจนมาถึงการขายซอง จนจะประมูลตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่กลับมีโรคแทรกซ้อนแบบฉับพลัน จนถูกกล่าวหาว่ามีคนได้เดิมพันสูง ทำให้เกิดธงในการล้มประมูลหรือไม่ ทั้งนี้โดยพฤติกรรมของการล้มประมูลครั้งนี้มีเงื่อนงำ มีลักษณะคล้ายเป็นการสมคบคิดกัน โดยเห็นแก่ประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องไม่คำนึงถึงผลเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชน และประเทศชาติ มีลักษณะคล้ายการเอื้อกลุ่มทุนผูกขาด เพื่อให้มีสิทธิ์ในการดำเนินงานในกิจการของรัฐ โดยทุจริตต่อหน้าที่ และปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต ไม่ยึดถือและปฎิบัติตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และยังมีการฝ่าฝืนและไม่ปฎิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม อย่างร้ายแรง เกินกว่าที่สังคมจะรับได้ เพราะกรณีนี้หาก เดินตามครรลองครองธรรม ใครชนะก็ทำไป จะเป็นเอกชนรายไหนได้ทำก็จะไม่มีปัญหาเกิดขึ้น ไม่มีข้อครหาอีกทั้งรัฐและประชาชน ก็จะไม่เสียประโยชน์
นอกจากนี้กรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 จำนวน 8 คนนั้น 6 คน เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม มีแค่ 2 คนที่มาจาก อัยการ และสำนักงบประมาณ กรรมการชุดนี้ จะทำให้ประชาชนเจ้าของ เงินภาษีไว้วางใจได้อย่างไร ว่าจะ มีความเที่ยงธรรม ยิ่งกรรมการ 6 คนนี้ เป็นผู้ลงมติ ล้มประมูลทั้งๆที่มีกรรมการจาก สำนักงบประมาณทักท้วงอย่างหนักหน่วง และยังมี คำสั่งศาลปกครองกลางคาอยู่ ยิ่งทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจมากขึ้น
“ตนขอเรียกร้องไปยัง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าเรื่องนี้ท่านจะทำเป็นเตมีย์ใบ้ ทำเป็นทองไม่รู้ร้อนไม่ได้ ปากก็ชอบพูดว่า ต้องทำตามกฎหมาย ซึ่งตนเรียกร้องให้ท่านนายกฯ ลงมาดูเรื่องนี้อย่างจริงจังหรือจะเรียกตนไปพบที่ทำเนียบตนจะอธิบายให้ฟังจะได้ตาสว่างว่าเกิดอะไรขึ้นในโครงการนี้ ซึ่งตนเห็นว่าหากนายกฯ จริงใจต่อประชาชนจริง ที่ชอบพูดบ่อยๆ ก็อย่าทำเฉยก็จะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นขึ้นมาได้ ทั้งนี้กรรมาธิการจะพิจารณาร่วมดังกล่าวทุกแง่มุม ก่อนนำไปสู่การร้องทุกข์ กล่าวโทษ ผู้เกี่ยวข้องต่อไป” นายจิรายุ กล่าว