“เผ่าภูมิ” วิเคราะห์คดีชดใช้จำนำข้าว ขีดเส้นชัด ตอกย้ำหลักการแบ่งแยก “ฝ่ายนโยบาย” กับ “ฝ่ายปฏิบัติ”
(6 เมษายน 2564) ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงคำพิพากษาศาลปกครองกลางเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ให้นายกฯยิ่งลักษณ์ ชดใช้ในคดีจำนำข้าว และให้เพิกถอนคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์ว่า
หากวิเคราะห์คำพิพากษา พอจะสรุปความได้ชัดในหลายๆประเด็น เช่น
- นายกฯยิ่งลักษณ์ ต้องดำเนินการตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา ลำพังนายกฯยิ่งลักษณ์ ไม่มีอำนาจยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวได้
- นายกฯยิ่งลักษณ์ มีอำนาจหน้าที่เพียงกำกับดูแลนโยบายในระดับมหภาค ไม่อาจรับรู้รับทราบข้อมูลการปกปิดข้อเท็จจริง และการกระทำผิดในระดับปฏิบัติได้
- นายกฯยิ่งลักษณ์ มิได้เพิกเฉยละเลย และได้ป้องกันยับยั้งมิให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวตามสมควรแก่วิสัยและพฤติการณ์แล้ว
- กรณีหนังสือแจ้งจาก สตง. และ ป.ป.ช. นายกฯยิ่งลักษณ์มีหน้าที่ควบคุมกำกับเชิงนโยบาย ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดูแลตามอำนาจหน้าที่แล้ว และหนังสือดังกล่าวมิใช่เป็นคำสั่งทางปกครองที่นายกฯต้องปฏิบัติตาม
- คำสั่งกระทรวงการคลังที่ให้ นายกฯยิ่งลักษณ์ ชดใช้ในคดีจำนำข้าว ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จากสรุปความโดยเฉพาะข้อ 1-4 ข้างต้น ได้ขีดเส้นแบ่งชัดๆ ระหว่าง “ฝ่ายนโยบาย” กับ “ฝ่ายปฏิบัติ” ไว้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นการตอกย้ำบรรทัดฐาน และหลักปฏิบัติในการบริหารราชการแผ่นดิน
พรรคการเมืองมีหน้าที่ออกแบบนโยบายโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศ ถ้าชนะการเลือกตั้ง ก็แถลงต่อสภา เพื่อเอาไปบริหารประเทศ หากเป็นนโยบายที่ล้มเหลว ทำประชาชนลำบากยากจน ความรับผิดก็ควรถูกสะท้อนผ่านการเลือกตั้งครั้งต่อไป เป็นผู้แพ้ในสนามเลือกตั้ง นี่คือ “กลไกการตรวจสอบตนเอง” ในระบอบประชาธิปไตย
ส่วนการดำเนินนโยบาย แน่นอนว่าต้องมีฝ่ายปฏิบัติตามนโยบาย มีผู้เกี่ยวข้องในวงกว้าง ซึ่งฝ่ายนโยบายก็มีหน้าที่วาง “กลไกเพื่อตรวจสอบการทำงาน” ของฝ่ายปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพ ป้องกันการทุจริตและการแสวงหาผลประโยชน์ ให้สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เท่านั้น แต่ไม่ใช่การลงไปยืนเฝ้าทุกรายละเอียด ทุกหน่วยงาน ในระดับปฏิบัติ
ทั้งนี้ผมมองว่า นี่เป็นการตอกย้ำ การขีดเส้นแบ่งชัดๆ ระหว่าง “ฝ่ายนโยบาย” กับ “ฝ่ายปฏิบัติ” ที่น่าจะเป็นคุณต่อประเทศในระยะยาว และทำให้เราไม่ต้องสูญเสียนโยบายดีๆ และโอกาสดีๆของประเทศไปอีก