รองโฆษกเพื่อไทย ชี้รัฐผลาญงบขยันทำแอปพลิเคชันแต่ไม่มีผลเชิงป้องกัน แนะเอางบมาซื้อวัคซีนให้ผู้มีรายได้น้อยดีกว่า
(8 เมษายน 2564) นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วจนผู้ติดเชื้อรวม 30,310 ราย ใน 30 จังหวัด นอกจากประชาชนต้องการให้ผู้ที่ติดเชื้อรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการเปิดเผยไทม์ไลน์แล้ว สังคมยังมีความเคลือบแคลงสงสัยในการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเยียวยาและรักษาผู้ป่วยที่เกิดจากการบริหารที่ผิดพลาดของรัฐ โดยเฉพาะการใช้งบประมาณในการผลิตแอปพลิเคชันจำนวนมากที่มองไม่เห็นถึงผลลัพธ์ในป้องกันและควบคุมโรคที่ชัดเจน เพราะปัจจุบันรัฐบาลเป็นเจ้าของแอปพลิเคชันที่เกี่ยวกับโควิด-19 รวม 3 แอปพลิเคชัน ได้แก่ ไทยชนะ หมอชนะ และ ไทยสต็อปโควิดพลัส หรือThai Stop COVID Plus (TSC+) เหตุใดเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่สามารถระบุไทม์ไลน์ หรือแจ้งเตือนไปยังบุคคลต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงให้เข้ามาตรวจโควิดได้ทันท่วงที ทั้งที่รัฐบาลใช้งบประมาณในการจัดจ้างและจัดทำแอปพลิเคชันเหล่านี้ค่อนข้างสูง เช่น แอปพลิเคชันหมอชนะที่นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้เคยออกมาให้ข้อมูลว่าได้ใช้เงินกับการพัฒนาแอปพลิเคชันหมอชนะไปแล้วกว่า 20 ล้านบาท หากประเทศไทยจะมีแอปพลิเคชันจำนวนมาก แต่ไม่มีผลต่อการควบคุมโรค ก็ควรนำเอาเงินงบประมาณซึ่งมาจากภาษีประชาชน มาจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 เฉพาะงบประมาณ 20 ล้านบาทในการผลิตหนึ่งแอปพลิเคชันสามารถนำไปจัดซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกา ได้ถึง 200,000 โดส นำไปฉีดให้กับประชากรได้ 100,000 คน (แอสตราเซเนก้า ราคา 90-120 บาท/โดส) หากรัฐบาลนำไปฉีดให้กับผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนแออัด รวมทั้งประชาชนกลุ่มอื่น ๆ โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย จะทำให้พวกเขาสามารถดำเนินชีวิตและขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปได้
“ต่อให้เรามีร้อยแอปพลิเคชันเราชนะ หมอชนะหรือใครชนะ คนที่ไม่ชนะคือประชาชน ตอนนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้นเหตุของการระบาดครั้งนี้คือความหละหลวมของรัฐบาลทั้งองคาพยพที่ไม่มีความรับผิดชอบปล้นชิงชีวิตของประชาชนด้วยการบริหารที่ไม่เป็นมืออาชีพ หากยังมีคำถามว่า ถ้าไม่เอาประยุทธ์จะเอาใครมาเป็นนายกฯ ผมว่าตอนนี้ใครก็ได้ล้วนดีกว่าประยุทธ์แน่นอน ” นายชนินทร์กล่าว