รองโฆษกพรรคเพื่อไทย วิจารณ์อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ชี้ต้องออกแบบให้เป็นสาธารณะ เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน

(13 เมษายน 2564) นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย โพสเฟซบุ๊กวิจารณ์อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ แนะให้ออกแบบให้เป็นมิตรผู้ใช้งาน โดยมีข้อความดังนี้

“สภาผู้ทรงเกียรติแห่งใหม่กับการออกแบบการใช้งานที่ไม่เป็นมิตรกับประชาชน

อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ หรือ สัปปายะสภาสถาน เตรียมเปิดใช้งานอย่างสมบูรณ์ 100% ในวันที่ 1 พ.ค.นี้ ได้ชื่อว่าเป็นรัฐสภาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ภายใต้งบประมาณการก่อสร้าง 12,000 ล้านบาท บนเนื้อที่ 120 ไร่ ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 8 ปีเต็ม ในฐานะสถาปนิกและหนึ่งในผู้ใช้งานอาคาร ผมขอใช้พื้นที่นี้วิพากษ์วิจารณ์ในเชิงการใช้งานจริงครับ

การออกแบบอาคารราชการสมัยใหม่ สิ่งแรกๆที่ต้องคำนึงถึงคือควรเป็นมิตรกับประชาชนและใช้งานง่าย มากกว่าการให้ความสำคัญกับความยิ่งใหญ่อลังการ ถ้าเราให้ความสำคัญผิดไปแล้ว จะเกิดปัญหาตามมาหลายอย่างครับ

-อาคารทำงานเพื่อประชาชน แต่ประชาชนกลับเข้าถึงยาก

หลักการ Accessibility ในเชิงการออกแบบ การเข้าถึงอาคารหลังนี้มีปัญหาครับ ด้วยการเดินทางจากภายนอกมายังพื้นที่โครงการเองที่ยากลำบาก ไม่ได้เลือกพื้นที่ที่สามารถเดินทางเข้ามาได้ด้วยรถไฟฟ้า ทำให้คนส่วนใหญ่ต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทางมา หากจะมาด้วยรถขนส่งสาธารณะ ก็ไม่ได้มีจุดจอดรถสาธารณะรับ-ส่งที่สะดวก ไม่มีการทำทางเดินในร่ม (covered-walkway) จากถนนสาธารณะมายังพื้นที่อาคารที่ใช้งานได้จริง

-ที่จอดรถมาตรฐานต่ำ vs ต่ำกว่ามาตรฐาน?

โครงการออกแบบมาให้มีที่จอดรถใต้ดิน 2 ชั้นเท่านั้น ไม่มีที่จอดเสริมนอกอาคาร ซึ่งไม่เพียงพอและสัมพันธ์กับขนาดของอาคาร
(Parking Space ) ทั้งยังออกแบบระยะช่องจอดตามเกณฑ์ขั้นต่ำ ทำให้รถคันใหญ่หน่อยก็จอดไม่ได้ เมื่อจอดไม่พอก็มีการเสริมการจอดซ้อนคัน แต่ด้วยระยะถนนที่เป็นขั้นตำ่เช่นกัน จึงมีปัญหากับวงเลี้ยวกับรถทุกประเภท เรียกว่าการขับรถขูดกันในสภาที่ทรงเกียรติจัดเป็นเรื่องปกติ …

แต่หากวันไหนเป็นวันที่มีการประชุมใหญ่หรือวาระพิเศษ การจะได้จอดรถจะเป็นอภิสิทธิ์สำหรับผู้มาล่วงหน้า 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น มิเช่นนั้นต้องจอดข้างนอกแล้วหาทางเรียกรถต่อเข้ามาเอง หรือต้องมีคนขับรถมาส่ง

-อาคารใหญ่ ทางเลือก (เดิน) น้อย

ระบบทางเดินทางตั้งของอาคาร (Vertical Linkage) มีปัญหาครับ นอกเหนือจากระบบลิฟท์ที่มาตรฐานตำ่ ทำให้การสัญจรของห้องโดยสารช้าเกินไปแล้ว อาคารใหญ่ขนาดนี้ กลับไม่มีบันไดสาธารณะที่จะเป็นตัวช่วยผ่อนเบาการใช้ลิฟท์ได้ดี !! มีเพียงบันไดหนีไฟที่ไม่เป็นมิตรกับการใช้งานในภาวะปกติ …

ในอาคารสาธารณะทั่วไป โดยเฉพาะอาคารราชการที่มีการสัญจรเชื่อมต่อกันระหว่างชั้นตลอดเวลาแบบนี้ บันไดสาธารณะสำคัญมากนะครับ ต้องเด่น ต้องสะดวก และใช้งานง่ายครับ จะช่วยลดการใช้พลังงานและลดระยะเวลาในการสัญจรได้เยอะเลยครับ (สังเกตได้ในโรงพยาบาลของรัฐหลายแห่งมีบันไดสาธารณะใกล้ๆ กับลิฟต์โดยสาร เพื่อเป็นทางเลือกในการใช้งานครับ บางทีบอกจำนวนแคลอรีที่ถูกเผาผลาญในการเดินขึ้นลงบันไดแต่ละขั้นด้วย)

-รัฐสภาหรือเขาวงกต

ในการออกแบบภายใน ระบบทางเดิน (Circulation)เป็นเรื่องสำคัญมากครับ
พูดเป็นเสียงเดียวกันครับว่า ระบบทางเดินที่นี่คือเขาวงกตโดยแท้ ไม่ต้องพูดถึงประชาชนที่เข้ามาติดต่อครั้งแรก แต่คนทำงานที่มาหลายครั้งยังคลำทางไม่ถูกครับ เพราะเต็มไปด้วยทางตัน ทาง 3แยก ทางเลี้ยวหักศอกแบบมองไม่เห็นกัน

การออกแบบอาคารสาธารณะที่ดี ต้องคำนึงถึงการเข้าใจระบบทางเดินที่ง่ายของคนโดยทั่วไปด้วยนะครับ ประกอบกับการใช้ระบบโถง เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานอ่านระบบทางเดินออกง่ายขึ้น เดินไม่หลงครับ

-ป้ายบอกทางต่างคนต่างทำ

ระบบป้ายภายในอาคาร (Signage) มีปัญหาหนักมากครับ ไม่มีการนำทางที่ชัดเจนว่าจะไปไหนต้องเดินไปทางไหน ระบบป้ายหน้าห้องเองตอนนี้ก็ยังไม่เป็นระบบ ต่างคนต่างทำ มีทั้งป้ายกระดาษ ป้ายสติ๊กเกอร์เต็มไปหมดครับ ไม่แน่ใจว่าทำยังไม่เสร็จ หรือยังไม่ได้คิดไปด้วยกันอย่างเป็นระบบ

ในหลักการออกแบบภายใน อย่างน้อยทุกชั้นเมื่อเดินออกมา ควรมีการบอกทิศทางและปลายทาง ( directory ) ที่เด่นและเข้าใจง่าย และมีป้ายย่อยตามทุกทางแยก

-พื้นแสนแพง แต่ไม่เป็นมิตรกับผู้ใช้

วัสดุพื้นทางเดินสาธารณะ (Material) มีปัญหาขั้นเช่นกันครับ มีการเปลี่ยนวัสดุไปมา กระเบื้องทีไม้ที มีบางช่วงเป็นการปูไม้กระดานเว้นร่องแบบตีโครงหน้าห้องทำงาน ไม่ทนทานสำหรับการใช้งานระยะยาวและยังไม่เป็นมิตรกับผู้ใช้งานด้วย อย่างคนใส่รองเท้าส้นไม้ หรือรองเท้าส้นสูงเดินผ่านแล้วเกิดเสียงดัง ผู้ใช้งานบางคนมีสะดุ้งตกใจ

ทั้งหมดเป็นความเห็นที่สอดแทรกองค์ความรู้ในการออกแบบภายในซึ่งเป็นอาชีพของผม เรื่องความสวยงามนั้นเป็นเรื่องของรสนิยมของแต่ละบุคคล แต่เรื่องการออกแบบสถานที่ราชการที่ประชาชนสามารถเข้ามาใช้งานได้ และยังก่อสร้างด้วยภาษีประชาชนก็ควรต้องคำนึงถึงผู้ใช้งานเป็นหลักด้วยนะครับ

การก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งนี้ ควรจะเป็นบทเรียนให้ภาครัฐว่าควรเลิกให้คุณค่ากับอาคารราชการที่ยิ่งใหญ่อลังการ แล้วมาให้ความสำคัญกับการออกแบบที่เป็นมิตร เข้าถึงง่าย สะดวกสบายกับการใช้งานของสาธารณะมากกว่าครับ

ผู้ทรงเกียรติทั้งหลายจะต้อง ‘มีเกียรติ’ จากการทำหน้าที่ของตัวเองในสภา มากกว่าการภาคภูมิใจกับความยิ่งใหญ่ของอาคารสถานที่ สถานที่ราชการควรเป็นที่รัก ที่พึ่ง ที่ภูมิใจของประชาชนครับ”