“หมอมิ้ง” เตือนรัฐบาล ต้องรับมือโควิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เน้นจัดหาวัคซีนและประชาชนต้องเข้าถึงชุดตรวจโควิดได้

(16 เมษายน 2564) นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและอดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการระบาดของไวรัสโควิด19 ที่กำลังระบาดรุนแรงอยู่ในขณะนี้ว่า การระบาดรอบนี้ เป็นการระบาดที่มีปริมาณเร็วและกว้างขึ้น เนื่องจากผู้ติดเชื้อไม่ได้แสดงอาการ ติดแต่ไม่รู้ว่าติด เมื่อไม่มีอาการก็ไม่ได้ระวังตัว ขณะเดียวกันหากดูตัวเลขผู้เสียชีวิตแล้ว อัตราการตายไม่ได้สูงขึ้น กล่าวคือ ตัวเลขอยู่ที่ 0.2 – 0.3% แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อของประเทศไทยจะสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่อัตราการเสียชีวิตกลับคงที่ ขณะเดียวกับรัฐบาลไทยก็มีความพร้อมมากกว่าปีที่แล้ว นายแพทย์พรหมินทร์เสนอว่า มาตรการโควิดรอบนี้รัฐไทยควรมุ่งเน้นไปที่การจัดหาวัคซีนและการให้ประชาชนสามารถตรวจเชื้อเองได้โดยตรง กล่าวคือ การเข้าถึงชุดตรวจเชื้อโควิด (self-rapid test kit) รวมถึงออกแบบมาตรการการจัดการให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์

นายแพทย์พรหมินทร์ยกตัวอย่างจากกรณีของประเทศอังกฤษ ที่มีจำนวนประชากรใกล้เคียงกับประเทศไทย มีขนาดภูมิประเทศต่างกันไม่มาก เพียงแต่ตั้งอยู่ในแถบหนาวเลยทำให้เชื้อแพร่กระจายได้ง่ายกว่า แต่ด้วยการทำงานของรัฐบาลอังกฤษที่มุ่งเน้นจัดหาวัคซีนและชุดตรวจเชื้อโควิดด้วยตัวเอง (self-rapid test kit) ให้ทั่วถึงและครอบคลุมประชาชนให้ได้มากที่สุด รวมถึงระบบ NHS ที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้สถานการณ์ในอังกฤษทุกวันนี้ประชากรเริ่มมีภูมิคุ้มกัน (Herd immunity)

“ที่จริงอังกฤษเผชิญปัญหาหนักกว่าเราเยอะ มีการติดเชื้อที่กว้างขวางกว่า จำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อของเองก็เยอะมาก แต่สิ่งที่รัฐบาลอังกฤษให้ความสำคัญคือการมุ่งเน้นไปที่วัคซีนและการเทสต์ อังกฤษฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรแล้ว 32 ล้านคน (เฉพาะโดสแรก) และแทนที่จะฉีดสองโดส (ให้กับประชาชนที่ไม่ได้ติดเชื้อ) เขาใช้วิธีฉีดโดสแรกให้ครอบคลุมทั่วประเทศให้ได้มากที่สุด จนส่งผลให้อัตราผู้ติดเชื้อใหม่ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด”

นอกจากการฉีดวัคซีนและให้ประชาชนสามารถตรวจสอบเชื้อได้ด้วยตัวเองเช่นเดียวกับประเทศอังกฤษทำแล้ว อีกสิ่งที่นายแพทย์พรหมินทร์เสนอว่า รัฐบาลไทยควรดำเนินการทันทีคือ การจัดทำแผนล่วงหน้าทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ หลังจากวัคซีนมาครบหนึ่งล้านโดสแล้วรัฐบาลจะทำอย่างไรต่อ ไม่ว่าจะเป็นด้านทรัพยากรบุคคล การโลจิสติกส์ หรือโครงสร้างต่างๆ เหล่านี้ต้องพร้อมและเอื้อประโยชน์ให้บุคคลากรสามารถดำเนินการได้ในทันที

หากถามว่ารัฐบาลมีเงินเพียงพอที่จะทำได้หรือไม่ นายแพทย์พรหมินทร์อธิบายว่ารัฐไทยมีศักยภาพพร้อมที่จะทำเช่นเดียวกับรัฐบาลอังกฤษ

“ประเทศไทยมีเงินมากกว่าห้าหมื่นล้านบาท และมากกว่านั้น ขณะนี้ก็ยังใช้ไม่หมดแล้วไม่รู้จะใช้อะไร ควรอย่างยิ่งที่จะใช้เกี่ยวกับการควบคุมโรคเหล่านี้ ในการจัดหาวัคซีนและ self-rapid test kit ต่างๆ”

นายแพทย์พรหมินทร์ ยังเสนออีกว่าการให้ผู้ป่วยสามารถรักษาตัวเองที่บ้านได้ แต่ต้องอยู่ในขอบเขตของ social distancing ที่เหมาะสม ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะยังช่วยให้กลุ่มแพทย์และพยาบาลมีกำลังเหลือมากพอที่จะไปดูแลเคสรุนแรงอื่นๆ อย่างมีศักยภาพต่อไปอีกด้วย

“ยิงศรต้องยิงให้ตกเป้า คำพูดในหลักการนี้คือ มีปัญหาตรงไหนก็ควบคุมตรงนั้น ควบคุมการเคลื่อนของคน แหล่งที่จะเป็นการแพร่เชื้อของโรค ผมคิดว่าเราต้องเดินอย่างเป็นแบบแผน รวดเร็วและชัดเจน วิทยาศาสตร์มีคำตอบไว้หมดแล้ว งบก็มีแล้ว เมื่อเป็นอย่างนี้ ถ้าเราจัดการได้แต่ต้นทาง ภาระในการเยียวก็จะลดลง เศรษฐกิจก็จะฟื้นกลับมาใกล้เคียงกับเดิมมากขึ้น นอกจากนี้ การมีมาตรการที่ชัดเจนในเชิงรุกจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศได้มากขึ้นว่าประเทศจะฟื้นตัวเร็ว ธุรกิจก็จะสามารถเดินต่อไปได้ การควบคุมโรคกับการใช้ชีวิตเชิงเศรษฐกิจให้เป็นปกติ คือรายละเอียดสำคัญ” นายแพทย์พรหมินทร์กล่าวสรุป