“จิราพร” จับตารัฐบาลลักไก่ดันไทยเข้า CPTPP ช่วงโควิด-19 ระบาด แนะเอาเวลาไปจัดหาวัคซีนให้เพียงพอ อย่ามัวเอื้อประโยชน์ให้ต่างชาติ
(20 เมษายน 2564) นางสาวจิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด ในฐานะรองโฆษก และประธานคณะอนุกรรมการนโยบายด้านการพาณิชย์และการค้าระหว่างประเทศ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าคณะรัฐมนตรีจะพิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ซึ่งมีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน และอาจมีมติเห็นชอบให้ไทยเข้าร่วมเจรจาความตกลง CPTPP ในปลายเดือนเมษายนนี้ว่า การกระทำเช่นนี้ยิ่งทำให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยว่ารัฐบาลมีผลประโยชน์อะไรอยู่เบื้องหลังหรือไม่ ถึงได้พยายามจะดันให้ไทยเข้าร่วมให้ได้ ทั้งๆที่ ผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP สภาผู้แทนราษฎร ชี้ชัดว่าไทยยังขาดความพร้อมหลายด้าน และประโยชน์ที่ไทยจะได้จากความตกลงนี้ยังไม่ชัดเจน ดังนั้น จึงมีข้อสงสัยว่า การศึกษาของ กนศ. ที่ใช้เวลาเพียง 3 เดือนมีการศึกษาเชิงลึกที่มากกว่าผลการศึกษาของ กมธ. อย่างไร มีผลการศึกษาเพิ่มเติมที่ชัดเจนหรือไม่ว่าไทยจะได้ประโยชน์อะไร นอกเหนือไปจากการฉายหนังซ้ำว่าเป็นการขยายการค้าและการลงทุน โดยไม่มีประเด็นชี้เฉพาะที่ชัดเจนและยังคงอธิบายไม่ได้ถึงสาระของประโยชน์ที่ไทยจะได้รับเมื่อแลกกับการที่ไทยจะเสียประโยชน์ว่าคุ้มค่าหรือไม่ และที่สำคัญที่สุดในห่วง 3 เดือนที่ กนศ. ทำการศึกษา ไม่มีการเปิดเผยผลการศึกษาให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรับรู้และแสดงความคิดเห็นอย่างเพียงพอ
ที่ผ่านมา มีข่าวว่า รัฐบาลสามารถให้หน่วยงานรัฐไปลองเจรจาดูก่อน ถ้าไม่ได้ตามที่คาดหวังค่อยถอนการเจรจา ในกรณีนี้ ไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องในกระบวนการเจรจาระหว่างประเทศ เพราะหากสมาชิก CPTPP ทราบว่าไทยมีแนวทางเช่นนี้ สมาชิก CPTPP คงจะไม่มานั่งเสียเวลาเจรจาด้วย เพราะเสมือนหนึ่งไทยกำลังจะลองผิดลองถูก เหมือนเด็กเล่นขายของ ไม่มีความน่าเชื่อถือในสายตาสมาชิก CPTPP เพราะโดยหลักการ ประเทศใดสนใจจะเข้า CPTPP ก็ต้องศึกษาความพร้อมและความเหมาะสมของประเทศตนในการเข้าเป็นสมาชิกก่อน เพราะความตกลงนี้มีผลใช้บังคับไปแล้ว รายละเอียดกฎเกณฑ์ก็มีให้ศึกษาชัดเจน การที่รัฐบาลจะกล่าวอ้างกับประชาชนในประเทศว่าเจรจาไปก่อนค่อยดูผลทีหลัง จึงดูเป็นการหลอกล่อเพื่อขอไปที แสดงถึงความไม่จริงใจต่อประชาชนรวมทั้งเสียมารยาทต่อคู่เจรา CPTPP ด้วย แทนที่รัฐบาลจะเอาเวลาไปเสริมสร้างพัฒนาข้อบกพร่องของไทยให้มีความพร้อมในการแข่งขันก่อนเข้า CPTPP ก็กลับไม่ดำเนินการตามที่ กมธ. ได้ศึกษาและเสนอแนะไป แต่กลับพยายามทำในวังวนเดิมที่เคยทำคือหลับหูหลับตาดันไทยเข้า CPTPP ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าไทยไม่มีความพร้อม แต่ที่ทำไปเพียงแค่จะสนองประโยชน์นายทุนโดยเฉพาะต่างชาติเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีทางเลือกอีกมากมายที่ควรทำ แทนที่รัฐบาลจะรีบกระโดดเข้าร่วมการเจรจาความตกลงดังกล่าว เช่น หารืออย่างไม่เป็นทางการกับสมาชิก CPTPP ผ่านรูปแบบ Exploratory Discussion เพื่อดูความน่าจะเป็นว่าไทยและสมาชิก CPTPP ยอมรับข้อเสนอในประเด็นต่างๆ ได้หรือไม่ ซึ่งเป็นแนวทางที่อาเซียนทำกับแคนาดาและสหภาพยุโรป รวมทั้งไทยเองก็เคยใช้แนวทางนี้กับแคนาดา นิวซีแลนด์ และออสเตรเลียมาก่อน หรืออีกทางเลือกหนึ่ง เช่น การส่งข้อเสนอและท่าทีของไทยไปยังสมาชิก CPTPP ให้ได้รู้ว่า ไทยอยู่ในฐานะไหน ทำอะไรให้ได้มากน้อยขนาดไหนอย่างไร โดยที่ทางเลือกต่างๆ ดังกล่าว ก็จะเป็นการช่วยประหยัดทรัพยากร เวลา และงบประมาณของไทยซึ่งดีกว่าการที่ไทยกระโดดเข้าไปเจรจาเป็นทางการด้วย เพราะหากเดินหน้าเจรจาแล้วขอถอนตัวในภายหลังจะทำให้เสียภาพลักษณ์ในเวทีโลกเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ การที่อ้างข่าวว่าอังกฤษจะเข้าร่วม CPTPP ไม่ใช่สาระสำคัญที่ไทยจะนำมาเป็นประเด็นกล่าวอ้างเชิงเปรียบเทียบ เพราะอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป ย่อมต้องหาพันธมิตรใหม่ และอังกฤษไม่ใช่สมาชิกความตกลง RCEP (สมาชิก RCEP 7 ประเทศเป็นสมาชิก CPTPP ได้แก่ สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย เวียดนาม ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) ดังนั้นอังกฤษจึงต้องการเข้า CPTPP เพื่อจะครอบคลุมสมาชิก RCEP จำนวน 7 ประเทศไปด้วย ในขณะที่ประเทศไทยมีความตกลงทั้งระดับทวิภาคีและระดับพหุพาคีกับประเทศ CPTPP แล้วถึง 9 ประเทศ จึงเหลือเพียงแคนาดากับเม็กซิโกที่ไทยยังไม่มีความตกลงทางการค้าด้วย และขณะนี้อาเซียนรวมไทยกำลังหารือกับแคนาดาเพื่อทำความตกลงอยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุผลใดที่ไทยจะเข้า CPTPP นอกนจากนี้ อังกฤษมีความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการค้าสูงกว่าไทยมาก ข้อเสียเปรียบในการเข้าร่วมความตกลง CPTPP จึงแทบไม่มีเลย ซึ่งแตกต่างจากไทยที่มีข้อเสียเปรียบสมาชิก CPTPP มาก
ยิ่งไปกว่านั้น หลังวิกฤตโควิด-19 จะทำให้การค้าของโลกเปลี่ยนไปเป็นอย่างมาก ซึ่งแม้มาตรฐานของ CPTPP เป็นเรื่องของการเปิดเสรีในระดับที่สูง แต่กฎเกณฑ์ไม่ได้รองรับรูปแบบการค้าใหม่ๆในอนาคต เช่น การค้ายุคไซเบอร์ การบริการนวัตกรรมชั้นสูง การเงินการธนาคารในระบบดิจิตอล การลงทุนดิจิตอล เช่น คริปโทเคอร์เรนซี (cryptocurrency) เป็นต้น ดังนั้น ไทยควรจะใช้โอกาสในวิกฤตโควิด-19 นี้เรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นเพื่อให้สามารถตัดสินใจกำหนดนโยบายการค้าระหว่างประเทศได้อย่างถูกต้องก่อนควบคู่ไปกับการพัฒนาความพร้อม ซึ่งจะเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ แทนที่จะหุนหันพลันแล่นเข้าร่วม FTA แบบเก่าดังเช่น CPTPP
“ในช่วงเวลาที่คนไทยกำลังหวาดผวากับวิกฤตโควิด-19 สิ่งที่รัฐบาลต้องทุ่มเทเวลาและให้ความสำคัญมากที่สุดคือการจัดหาวัคซีนมาให้กับประชาชน ไม่ใช่มัวเอาเวลาไปเร่งให้ประเทศเข้าร่วมความตกลง CPTPP เพื่อหาประโยชน์ให้กับต่างชาติ และที่น่ากังวลที่สุดคือ การที่ไทยจะเข้าร่วมความตกลง CPTPP ในห้วงการบริหารประเทศของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะผลงานการบริหารประเทศตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าล้มเหลวในทุกด้าน แล้วเช่นนี้จะให้ประชาชนวางใจได้อย่างไรว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์จะสามารถเตรียมความพร้อมทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุดจากการเข้าร่วมความตกลงฯ ฉบับนี้” นางสาวจิราพร กล่าว