“ชวลิต” แนะ “ประยุทธ์” ลาออก เพื่อหาในนายกฯใหม่จากส.ส.ขัดตาทัพ มีภารกิจสำคัญคือ จัดการโควิด-แก้รัฐธรรมนูญ-ประคับประคองเศรษฐกิจให้รอดในทุกมิติ

(25 เมษายน 2564) นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นต่อแถลงการณ์ของนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ลงวันที่ 24 เมษายน 2564 เรื่อง วิกฤตสุขภาพจากโควิด – 19 โดยแถลงการณ์ดังกล่าวได้ให้ข้อเสนอแนะทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายประชาชน และภาคการแพทย์ อย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะรัฐบาลและภาคการเมืองถูกกล่าวถึงอย่างรุนแรง และตรงไปตรงมาว่า ไม่สามารถบริหารจัดการวิกฤตสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีนโยบายที่ไม่ทันการ และคำพูดที่ไม่สร้างสรรค์
สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ถือว่าเป็นองค์กรที่ไม่มีส่วนได้ ส่วนเสียทางการเมือง การให้ความเห็นดังกล่าวจึงสะท้อนความเป็นจริง และที่สำคัญปราศจากอคติ ปัจจุบันสถานการณ์โควิดทั้งในไทยและในโลกเปรียบเสมือนเกิดศึกสงครามซึ่งไม่ใช่สงครามโลก แต่เป็นสงครามโรค เมื่อถึงขั้นเป็นศึก สงคราม แต่ฝ่ายบริหารไม่มีประสิทธิภาพ และไม่ทันการ หากยังทำหน้าที่ต่อไป บ้านเมืองและพี่น้องประชาชนจะยิ่งเสียหาย เสื่อมทรุด อาจถึงขั้นหายนะ ซึ่งเราคนไทยจะปล่อยให้ถึงสภาพนั้นไม่ได้
ในอดีต 7 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มักจะถูกวิพากษ์ วิจารณ์ว่า เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตยและต่อท่ออำนาจด้วยกติกาที่ไม่เป็นธรรม แต่ปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ฯ ถูกวิพากษ์ วิจารณ์ว่า ไม่มีประสิทธิภาพ และนโยบายไม่ทันการ ซึ่งนับเป็นวิกฤตในการทำสงครามกับโรคร้ายที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเป็นศึกสงคราม เราต้องการชัยชนะเท่านั้น เพื่อรักษาประเทศชาติและประชาชนเอาไว้ให้ได้ เมื่อผู้บริหารไม่มีประสิทธิภาพ มีนโยบายที่ไม่ทันการดังกล่าว ทางออกในการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มี 2 ทาง คือ ยุบสภา หรือนายกรัฐมนตรี ลาออก การยุบสภา ไม่มีเหตุผลในการยุบสภา และหากมีการยุบสภา ก็ต้องใช้เวลากว่าจะได้รัฐบาลใหม่หลายเดือน ไม่ทันการในการแก้ปัญหาประเทศชาติและประชาชน ทางออกในการยุบสภาในขณะนี้จึงไม่เหมาะสม
ดังนั้น ทางออกที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน คือ นายกรัฐมนตรีควรลาออก สำหรับการสรรหานายกรัฐมนตรีท่ามกลางศึกสงคราม เป็นเรื่องความมั่นคงที่รัฐสภาอาจต้อง “งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา” เพื่อแก้วิกฤตยามศึก สงคราม ซึ่งหากใช้กติกาปกติ ไม่ทันสถานการณ์ในการแก้ปัญหาสำคัญของชาติ
ผมเห็นว่าในสถานการณ์เช่นนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ฯ ไม่อาจบริหารสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขาดความเชื่อมั่นจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะจากภาคเอกชน หรือล่าสุดจากองค์กรสำคัญที่ทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ พล.อ.ประยุทธ์ จึงเดินต่อไปไม่ได้แล้ว ยิ่งอยู่ บ้านเมืองยิ่งเสื่อมทรุด การลาออกไม่ใช่การละทิ้งหน้าที่ แต่เป็นการเสียสละเพื่อบ้านเมือง สำหรับหน้าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่จะได้รับการสนับสนุนจากทุกพรรคการเมืองควรมีหน้าที่หลัก 3 ประการ ก่อนยุบสภา คือ
1. บริหารจัดการยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 โดยเฉพาะการจัดหาวัคซีน, การบริหารจัดการรักษาผู้ป่วย ตลอดจนการทำงานเชิงรุกในการตรวจหาเชื้ออย่างกว้างขวาง เพื่อจำกัดการแพร่ขยายให้อยู่ในวงจำกัด
2. การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นธรรม ให้ประเทศได้รับความเชื่อมั่น
3. การทำงานอย่างซื่อสัตย์จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจ และเข้าไปปรับหรือชะลองบประมาณด้านความมั่นคงที่ไม่เร่งด่วน มาใช้ด้านการสาธารณสุขเป็นหลัก
หลังจากนั้นจึงยุบสภา คาดว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่จะใช้เวลาในการบริหารประเทศประมาณ 1 ปี 6 เดือน แล้วจึงยุบสภา ผมไม่เคยมีปัญหา หรือมีอคติส่วนตัวอะไรกับ พล.อ. ประยุทธ์ ฯ ความเห็นที่ให้ครั้งนี้ หวังที่จะเห็นสปิริตจากชายชาติทหารที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หากท่านกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นับเป็นการเสียสละ เป็นทางออกให้กับบ้านเมือง การเสียสละเป็นคุณสมบัติของผู้รักชาติ รักแผ่นดิน และเป็นทางออกที่ดีที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบัน