กมธ.การต่างประเทศ หนุนอาเซียนแก้ไขปัญหาในเมียนมา แนะทุกฝ่ายปฏิบัติตามฉันทามติหวังชาวเมียนมากลับสู่ภาวะปกติ

(28 เมษายน 2564) นายศราวุธ เพชรพนมพร ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ออกแถลงการณ์สนับสนุนอาเซียนแก้ไขปัญหาในเมียนมา โดยระบุว่า ได้ติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมาอย่างใกล้ชิด รวมทั้งได้มีการหารือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง กรณีชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่บริเวณตะเข็บชายแดน ที่ต้องลี้ภัยเข้ามาในประเทศไทยในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ได้ชื่นชมความคิดริเริ่มของผู้นำอาเซียนที่จัดให้มีการประชุมวาระพิเศษ ณ สำนักงานเลขาธิการอาเซียน กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2564 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามและบทบาทที่สร้างสรรค์ของอาเซียนในการแก้ไขปัญหาวิกฤตทางการเมืองซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงในเมียนมา

นอกจากนี้คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ ยังเห็นด้วยและสนับสนุนฉันทามติทั้ง 5 ข้อของที่ประชุม พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามฉันทามติโดยเร็วที่สุด รวมทั้งให้ผู้ที่ถูกคุมขังทั้งหมดได้รับการปล่อยตัว และสามารถใช้สิทธิในการปกป้องความบริสุทธิ์ภายใต้กระบวนการยุติธรรมที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและความตกลงระหว่างประเทศ

“สถานการณ์ในเมียนมาครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความผูกพันที่แน่นแฟ้นในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน คณะกรรมาธิการฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้เห็นประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมมือกันคลี่คลายปัญหาความขัดแย้ง และสนับสนุนให้เมียนมากลับคืนสู่สถานการณ์ปกติ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวเมียนมาทุกคนโดยเร็วที่สุด” นายศราวุธกล่าว

อนึ่ง แถลงการณ์เรื่อง สนับสนุนอาเซียนแก้ไขปัญหาในเมียนมา มีข้อความดังนี้

แถลงการณ์ของคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25
สนับสนุนอาเซียนแก้ไขปัญหาในเมียนมา วันที่ 28 เมษายน 2564

คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ได้ติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา อย่างใกล้ชิด รวมทั้งได้มีการหารือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง กรณีชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่บริเวณตะเข็บ ชายแดน ที่ต้องลี้ภัยเข้ามาในประเทศไทยในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

คณะกรรมาธิการฯ ขอแสดงความชื่นชมต่อความริเริ่มของผู้นําอาเซียนที่ได้จัดให้มีการประชุมในวาระพิเศษ ณ สํานักเลขาธิการอาเซียน กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๔ ซึ่งแสดงให้เห็นถึง ความพยายามและบทบาทที่สร้างสรรค์ของอาเซียนในการแก้ไขปัญหาวิกฤตทางการเมืองซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงในเมียนมา

คณะกรรมาธิการฯ ขอแสดงความเห็นด้วยและสนับสนุนฉันทามติทั้ง ๕ ข้อ (Five-Point Consensus) ของที่ประชุม ได้แก่ 1. การยุติความรุนแรงและการเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจ 2. การหารืออย่าง สร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวเมียนมา 3. ผู้แทนพิเศษ (Special Envoy) ของประธานอาเซียนจะช่วยอํานวยความสะดวกกระบวนการหารือ โดยการสนับสนุนของเลขาธิการ อาเซียน 4. อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่าน AHA Centre 6. ผู้แทนพิเศษและคณะจะเดินทางไปเมียนมาเพื่อพบกับฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามฉันทามติโดยเร็วที่สุด รวมทั้งให้ผู้ที่ถูกคุมขังทั้งหมดได้รับการปล่อยตัว และสามารถใช้สิทธิในการปกป้องความบริสุทธิ์ของตนภายใต้กระบวนการยุติธรรมที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและความตกลงระหว่างประเทศ

สถานการณ์ในเมียนมาในครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นว่า ความผูกพันที่แน่นแฟ้นในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ทําให้ปัญหาซึ่งเกิดขึ้นในประเทศใดประเทศหนึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประเทศสมาชิกอื่นๆ ในภูมิภาค ได้เช่นกัน

ท้ายที่สุดคณะกรรมาธิการฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมมือกันในการ คลี่คลายปัญหาความขัดแย้ง และสนับสนุนให้เมียนมากลับคืนสู่สถานการณ์ปกติเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวเมียนมาทุกคนโดยเร็วที่สุด