“เพื่อไทย” ชี้ ระบบส่งต่อผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ซ้ำซ้อน หน่วยงานไม่กล้าตัดสินใจแก้ปัญหา ทำให้ผู้ป่วยตกค้างเป็นดินพอกหางหมู

(3 พฤษภาคม 2564) นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานภาค กทม. พรรคเพื่อไทย , นางทัดดาว ตั้งตรงเจริญ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.เขตราชเทวี และนายพงศกร รัตนเรืองวัฒนา ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.เขตบางกะปิ ร่วมกันแถลงข่าวภาพรวมการให้ความช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์โรคระบาดโควิด โดย ส.ส. และว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. และสมาชิกพรรคลงพื้นที่ดูแลประสานงานช่วยเหลือประชาชนในช่วงระบาดโควิด-19 เป็นเวลาครบ 1 สัปดาห์ พรรคเพื่อไทยพบปัญหาและอุปสรรคการบริหารจัดการการแก้ปัญหาโควิดของภาครัฐ โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. ระบบการส่งต่อผู้ป่วยทับซ้อนกัน ไม่มีศูนย์กลางหรือผู้สามารถตัดสินใจเคสผู้ติดเชื้ออย่างชัดเจน เช่น ภาพรวมระดับประเทศ ผู้ดูแลรับผิดชอบคือ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เป็นผู้ดูภาพรวมทั้งประเทศและส่งข้อมูลให้แต่ละจังหวัด ในกรุงเทพมหานครเอง ก็มีศูนย์เอราวัณ มีโรงพยาบาลในสังกัดที่คอยคัดกรองตรวจสอบ ถ้าศูนย์การแพทย์เอราวัณคัดกรองว่าผู้ป่วยระดับสีเขียวคือปลอดภัย สีเหลืองก็กักตัว สีแดงก็ส่งโรงพยาบาล สถานการณ์จริงคือ ศูนย์เอราวัณได้รับข้อมูลแต่ไม่สามารถวินิจฉัยว่าผู้ป่วยตรวจเช็คเชื้อแล้วอยู่ในระดับไหนเช่นสีเขียว สีเหลือง หรือสีแดง ไม่รู้ว่าจะประเมินผลอย่างไร ก็หาข้อมูลไม่ได้ ผู้ติดเชื้อก็ตกค้างอยู่ในระบบจนกลายเป็นข่าวว่าทำไมศูนย์เอราวัณถึงต้องใช้เวลา 2 วันในการติดต่อกลับไปที่ผู้ป่วย
  2. ควรเปิดเผยพิกัดของผู้ติดเชื้อ เพื่อให้สังคมได้ระมัดระวัง ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อมีคนติดเชื้อ 1 คนจะมีการเปิดเผยพิกัดข้อมูล แต่ช่วงหลังเหมือนไม่มีการเปิดเผยข้อมูลผู้ติดเชื้อ ซึ่งผู้ติดเชื้อควรกักตัวอยู่บ้าน แต่กลับพบว่าผู้ติดเชื้อหลายคนยังเดินทางไปทำงาน ยังพบปะผู้คนใช้ชีวิตปกติ จนระบาดไปยังครอบครัว คนใกล้ชิด และชุมชนของตนเอง
  3. ควรมีมาตรการดูแลอาหารและอุปกรณ์เครื่องใช้จำเป็น สำหรับผู้มีความเสี่ยงสูงต้องกักตัวอยู่บ้าน 14 วัน และยังต้องเดินทางไปตรวจเชื้อซ้ำ ซึ่งรัฐและเอกชนต้องเข้าไปช่วยเหลือเรื่องอาหารการกิน ให้เขาสามารถอยู่ในบ้านได้โดยมีอาหารเพียงพอ
  4. วัดและฌาปนสถาน รัฐจะต้องเข้ามาดูแลจัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นให้เช่นชุด PPE อุปกรณ์ทำความสะอาด และมาตรการในการดูแลเรื่องสาธารณสุข โดยสาธารณสุขจังหวัดหรือแต่ละเขตต้องเข้าไปดูแลและสนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆให้เพียงพอ
  5. บุคลากรทางการแพทย์ ขณะนี้ขาดแคลน แพทย์จากโรงพยาบาลเอกชนถูกดึงตัวไปใช้งานที่ภาคสนาม ซึ่งมีหน้าที่งานที่หนักและพักผ่อนไม่เพียงพอ อาจมีโอกาสติดเชื้อได้ จึงอยากเสนอให้ กทม. ดูแลแพทย์ให้ได้พักผ่อนจัดเวรทำงานไม่ให้เหนื่อยเกินไป และถ้าเป็นไปได้ควรจัดหาแพทย์สำรองเพิ่มเติมเข้ามาสับเปลี่ยนหมุนเวียนให้แพทย์ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอและปลอดภัย
  6. แอปพลิเคชัน หมอพร้อม ยังไม่สมบูรณ์ และประชาชนอีกจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึง ทำไมไม่ใช้ฐานข้อมูลจากข้อมูลทะเบียนราษฏร หรือฐานภาษีกรมสรรพากร เป็นหลักและเรียกตัวประชาชนตามข้อมูลฐานทะเบียนราษฏรมาฉีดวัคซีนได้โดยไม่ต้องให้ประชาชนต้องมาลงทะเบียนแอปพลิเคชันซ้ำซ้อน
  7. หน่วยงาน เจ้าหน้าที่ตามคลินิก อุ่นใจ ซึ่งเป็นด่านแรกที่พบผู้ป่วย และผู้มาใช้บริการบัตรทอง แต่บุคลาการเหล่านี้กลับยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันตัวเอง และถ้าการระบาดรุนแรงยังรุนแรงขนาดนี้อาจแพร่ไปยังบุคลากรเหล่านี้ได้ง่ายซึ่งอันตรายมาก

นางทัดดาว ตั้งตรงเจริญ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. เขตราชเทวี กล่าวว่าเคสผู้ป่วยที่รุนแรงที่สุดที่พบ คือเคสผู้ป่วยโควิด 7 ชีวิต ที่ซอยเพชรบุรี7 เขตราชเทวี ซึ่งติดทั้งหมดยกเว้นลูกชาย 4 ขวบ อาศัยอยู่ในห้องเช่าเดียวกัน ซึ่งเขตชุมชนในเขตราชเทวี มีชุมชนหนาแน่นจำนวนมาก มีประชากรอยู่รวมห้องกัน ต้องอยู่อาศัยและไปทำงานโดยมีความเสี่ยงในการรับและแพร่เชื้อสูงมาก ขณะเดียวกันก็ไม่มีโอกาสที่จะได้ตรวจเชื้อเพราะรายได้น้อยและค่าตรวจเชื้อมีราคาแพง จึงอยากให้รัฐบาลเข้ามาดูแลการตรวจเชื้อเชิงรุกให้มากกว่านี้


นายพงศกร รัตนเรืองวัฒนา ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.เขตบางกะปิ เปิดเผยเช่นกันว่าในเขตบางกะปิ มีกรณีผู้ป่วยที่น่าเป็นห่วง คือชุมชนในตลาดสด เนื่องจากแม่เค้าเหล่านี้ทำงานอยู่ในตลาดทุกวัน เจอลูกค้าจำนวนมากจึงไม่รู้ว่าไปติดเชื้อมาจากใคร แต่กว่าจะทราบว่าติดเชื้อก็เสียชีวิตขณะนำส่งโรงพยาบาล และลูกสาวในบ้านอีก 2 คน และแม่ค้าในตลาดก็ทยอยคิดโควิดตามไปด้วย จึงอยากให้ภาครัฐมีมาตรการทำงานเชิงรุกในการดูแลชุมชน ตลาดสด เพราะสามารถเป็นแหล่งแพร่เชื้อได้อย่างง่ายมาก