อย่าปล่อยให้กรุงเทพฯ อมโรค! “วิชาญ มีนชัยนันท์” เตือน รัฐบาล – ผู้ว่า กทม. ล่าช้า-ไม่บูรณาการการทำงาน หวั่นโควิดกระจายตามชุมชน เสนอ 5 ทางเร่งแก้ก่อนระบาดหนัก
(6 พฤษภาคม 2564) นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานภาค กทม. พรรคเพื่อไทยและอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า ขณะนี้บุคลากรของพรรคเพื่อไทยลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนในทุกพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง พบปัญหาและช่องโหว่ในการบริหารจัดการสถานการณ์ของรัฐบาลและ กทม.อยู่มาก โดยเฉพาะการตรวจเชื้อกลุ่มเสี่ยง การรับส่งผู้ติดเชื้อไปจนถึงปัญหาการมีผู้ป่วยตกค้างยังไม่ได้มีการรับตัวไปรักษา ทำให้น่าเป็นห่วงในเรื่องการควบคุมการแพร่ระบาดเป็นอย่างยิ่ง
นายวิชาญ กล่าวว่า บุคลากรของพรรคเพื่อไทยที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนแจ้งกลับมาว่า ขณะนี้ตามชุมชนต่างๆ ในพื้นที่ กทม. มีการพบผู้ติดเชื้อแล้วแต่ยังคงมีปัญหาเรื่องการตรวจเชื้อและการรักษาพยาบาล หลายพื้นที่มีผู้ป่วยตกค้างและผู้ที่ต้องกักตัวอยู่เป็นจำนวนมากและอาจจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ซ้ำรอยคลองเตยได้ตลอดเวลา จนดูเหมือนว่ากรุงเทพฯ กำลังกลายเป็นพื้นที่ที่อมโรคอยู่ ล่าสุดได้รับแจ้งว่าในพื้นที่ดอนเมืองและบริเวณเคหะทุ่งสองห้องก็พบผู้ติดเชื้อและผู้ที่ต้องกักตัวอยู่จำนวนมาก ซึ่งภาครัฐควรเร่งเข้าไปดูแลประชาชน ตรวจเชื้อและคัดแยกกลุ่มเสี่ยงและผู้ติดเชื้อออกจากประชาชนทั่วไปเพื่อป้องกันการระบาดโดยด่วน
นายวิชาญ กล่าวว่า สถานการณ์ใน กทม.ขณะนี้น่าเป็นห่วงอย่างมาก ดังนั้นภาครัฐ และ กทม. จะต้องแก้ปัญหา โดย 1.ต้องบูรณาการการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง หาผู้รับผิดชอบให้ชัดเจนในแต่ละส่วนงานที่ทำ โดยเฉพาะขั้นตอนการรับส่งและตรวจวินิจฉัยกลุ่มเสี่ยงทั้งระบบ ซึ่งขณะนี้เป็นปัญหาทับซ้อนอยู่ จนไม่สามารถหาผู้รับผิดชอบได้
- ต้องเร่งแยกกลุ่มเสี่ยงและผู้ติดเชื้อออกจากประชาชนและชุมชน เพราะขณะนี้ยังพบว่าตกค้างอยู่ตามชุมชนต่างๆ จำนวนมาก
- เร่งการคัดกรองผู้ติดเชื้อในชุมชนใหญ่ๆ เพราะที่ผ่านมีบทเรียนแล้วจากปัญหาการระบาดที่ชุมชนคลองเตยที่ดำเนินการล่าช้าจนเกิดการระบาดและกลายเป็นปัญหาใหญ่ รวมทั้งเร่งรับตัวผู้ติดเชื้อไปรักษาเพื่อแยกออกจากชุมชน พร้อมทั้งดำเนินการฉีดพ่นฆ่าเชื้อทำความสะอาดในชุมชนทันที
- รัฐบาล และ กทม. ต้องเปิดใจกว้างให้ภาคเอกชนที่มีความพร้อมเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการนำส่งผู้ติดเชื้อ ซึ่งภาครัฐอาจอยู่ในฐานะของผู้สนับสนุนในด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ที่จำเป็น ซึ่งผู้ว่าฯ กทม. ควรพิจารณานำงบประมาณ 1,500 ล้านบาท ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สปสช. มาใช้ในส่วนนี้ รวมถึงประสานและสนับสนุนการทำงานของอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ที่มีอยู่ทุกพื้นที่ให้มากกว่านี้
- ภาครัฐ และ กทม. ควรประสานงานกับคลินิกอบอุ่น (คลินิกหลักประกันสุขภาพ 30 บาท) ซึ่งขึ้นทะเบียนกับ สปสช. ที่มีอยู่เกือบ 200 แห่งทั่วกรุงเทพฯ รวมไปถึงศูนย์สาธารณสุข กทม. ให้เป็นสถานที่สำหรับตรวจเชื้อและฉีดวัคซีน เพราะคลินิกเหล่านี้มีรายชื่อประชาชนที่เป็นสมาชิกอยู่แล้ว เพื่อการแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็วและลดการกระจุกตัวที่โรงพยาบาล
ขณะนี้สิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนคือการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน รัฐบาล และ กทม.จะต้องยอมรับว่าไม่สามารถรับมือได้เพียงลำพัง อย่าไปกลัวเสียหน้า เพราะวิกฤตครั้งนี้กระทบกับพี่น้องประชาชนทุกคน ซึ่งในอดีตเราก็เคยเกิดวิกฤตลักษณะเดียวกันนี้ ไม่ว่าจะเป็น ไข้หวัดนกหรือแม้แต่เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ แต่แก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว เพราะรัฐบาลขณะนั้นเปิดกว้างให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมแก้ปัญหา ดังนั้นจึงหวังว่า นายกรัฐมนตรีและผู้ว่าฯ กทม.จะเห็นแก่ความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน พิจารณาข้อเสนอเหล่านี้เพื่อเร่งแก้ไขปัญหา