ประธาน กมธ. ติดตามงบประมาณฯ พรรคเพื่อไทย ห่วง พ.ร.ก.เงินกู้ 7 แสนล้าน เพิ่มแต่หนี้ ไม่แก้ปัญหา
(22 พฤษภาคม 2564) นายไชยา พรหมา ส.ส. หนองบัวลำภู ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณสภาผู้แทนราษฎร รองหัวหน้าพรรค และ คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นว่า จากการที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการออก พรก. เงินกู้อีก 7 แสนล้าน ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยเสนอเป็นวาระจร เอกสารลับมากขอบแดง เก็บเอกสารกลับทันทีที่เสนอเสร็จ การดำเนินการครั้งนี้เปรียบเสมือนการ “ลักหลับ” ในขณะที่สภากำลังปิดสมัยประชุม ปราศจากการตรวจสอบจากสภาผู้แทนราษฎร อีกทั้งในวันที่ 31 พ.ค.-2 มิ.ย นี้จะมีการพิจารณา พรบ.งบประมาณปี 2565 ด้วยกรอบวงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท จึงไม่มีความจำเป็นที่จะออก พรก.มาซ้ำซ้อนในขณะที่กำลังจะพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี เช่นนี้ ทั้งนี้ เพราะก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลัง โดย รมว. คลัง ยืนยันว่า วงเงินกู้ตาม พรก. 1 ล้านล้านเดิมนั้น ยังมีวงเงินคงเหลือถึง 380,000 ล้านบาท เพียงพอสำหรับการเยียวยาและแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3
ทั้งนี้ แม้รัฐบาลจะอ้างถึงความจำเป็นที่จะต้องกู้เงินเพื่อนำมาแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจก็ตาม ตนมีความเห็นว่า การที่รัฐบาลออก พรก.เงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจไปก่อนหน้านี้ จำนวน 1 ล้านล้านบาทนั้น ไม่สามารถแก้ปัญหาและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ ไม่ว่าจะเรื่องระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะเรื่องการจัดหาวัคซีนให้มีความเพียงพอและทันเวลา ตลอดจนไม่มีวัคซีนทางเลือกให้กับประชาชน หรือแม้กระทั่งการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาโดยเร็ว
ดังนั้น จึงเป็นห่วงว่า ในสภาวะที่ฐานะการคลังของประเทศมีความเปราะบางเช่นนี้ จะส่งผลต่อหนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มสูงขึ้น เป็นภาระให้ประชาชนแบกรับในการใช้หนี้ในอนาคตมากกว่า จากข้อมูลของกระทรวงการคลังมีการประมาณการสถานะทางการคลังของประเทศ ณ วันนี้ (ปีงบประมาณ 2564) เรามีหนี้สาธารณะคงค้างกว่า 9 ล้านล้านบาท เมื่อพิจารณาถึงกรอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณใน ปี 2565 ซึ่งเป็นการจัดงบประมาณขาดดุลงบประมาณต่อเนื่องกันมา ไทยต้องกู้เงินเพื่อนำมาชดเชยการขาดดุลงบประมาณทุกปี ในขณะที่ประมาณการจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการมาโดยตลอดและต้องกู้เงินมาโปะการจัดเก็บรายได้ที่พลาดเป้า
การกู้เงินต่อเนื่องของรัฐบาลส่งผลให้หนี้สาธารณะต่อ GDP พุ่งสูงขึ้นแตะ 60% ซึ่งจะเกินกรอบวินัยการเงินการคลังและกรอบความยั่งยืนทางการคลังของประเทศ จะเป็นอันตรายต่อฐานะทางการคลังของประเทศในอนาคต ดังนั้น การใช้จ่ายเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการต่าง ๆ ที่ผ่านมาของรัฐบาล ถือว่าล้มเหลว ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัส รวมถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งจะเห็นได้จากการอนุมัติโครงการปล่อยกู้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้รับการอนุมัติน้อยมาก และยังถูกโยกงบประมาณส่วนนี้ไปในเรื่องของการเยียวยาแทนเป็นส่วนใหญ่ จนนำมาสู่การแพร่ระบาดในรอบที่ 3
ในฐานะที่เป็นประธาน กมธ.ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ มีความเห็นว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ยังไม่มีความเหมาะสม หากรัฐบาลจัดลำดับความสำคัญของการใช้งบประมาณ ลดรายจ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็นออกไปก่อน เช่น งบประมาณด้านความมั่งคง ด้านการทหาร เพราะในสถานการณ์ปัจจุบัน ภัยความมั่นคงของประเทศคือภัยจากไวรัสโควิด-19 ที่กำลังระบาด และมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น การใช้เงินงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ถ้ารัฐบาลจัดลำดับความสำคัญของปัญหาได้อย่างที่กล่าวมา อาจไม่มีความจำเป็นต้องออก พรก.เงินกู้อีก 7 แสนล้านเลย เพราะจะเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนที่ลูกหลานจะต้องมาชดใช้หนี้คืนด้วยภาษีอากรในวันข้างหน้า
อย่างไรกดี เมื่อรัฐบาลได้ตัดสินใจออก พรก.อีก 7 แสนล้านแล้ว ตนจึงอยากเห็นการใช้เงินกู้ครั้งนี้ พุ่งเป้าไปที่การหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยการระดมวัคซีนที่ดี มีคุณภาพ ไม่ใช่จำกัดแค่วัคซีนที่รัฐบาลเลือกแล้ว แต่ต้องเป็นวัคซีนที่ประชาชนมีความมั่นใจว่าปลอดภัย อีกทั้งเร่งการฟื้นฟู เยียวยาภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ภาคการท่องเที่ยวให้รีบกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติโดยเร็ว เพราะยิ่งช้าเท่าไหร่ เท่ากับต้นทุนทางด้านเศรษฐกิจและด้านสาธารณะสุขยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว
ในสภาวะวิกฤติการณ์ไวรัสซึ่งส่งผลกระทบมาเป็นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจพร้อมกัน การใช้เงินของรัฐบาลจะต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และต้องรู้จักเรียงลำดับความจำเป็นในการใช้เงินในสภาวะที่การคลังของประเทศเริ่มมีปัญหา รัฐบาลต้องรู้จักลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเพื่อนำมาใช้กับเรื่องที่จำเป็นมากกว่าก่อน ซึ่งหากพลเอกประยุทธ์ไม่สามารถที่จะแยกแยะเรียงลำดับความสำคัญได้ ก็ไม่ควรจะมาบริหารประเทศอีกต่อไปแล้ว นายไชยา กล่าวในที่สุด