“ภูมิธรรม” ชี้ งบประมาณ ปี 65 กระจกสะท้อนตัวตนของรัฐบาล : ไร้ฝีมือ ไม่มีวิสัยทัศน์ ปกป้องพวกพ้อง ทอดทิ้งประชาชน

นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กถึงร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ที่กำลังจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์นี้ว่าเป็นร่างงบประมาณที่สะท้อนถึงความไร้ฝีมือ ไร้วิสัยทัศน์และทอดทิ้งประชาชนในภาวะวิกฤต โดยมีข้อความว่า

งบประมาณ ปี 65 กระจกสะท้อนตัวตนของรัฐบาล : ไร้ฝีมือ ไม่มีวิสัยทัศน์ ปกป้องพวกพ้อง ทอดทิ้งประชาชน
เมื่อได้อ่านร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ซึ่งรัฐบาลสภาฯประชุมพิจารณาในช่วงวันที่ 31 พฤษภาคม ถึงวันที่ 2 มิถุนายน นี้ ทำให้ตั้งคำถามว่า นี่หรือคือการจัดงบประมาณในสภาวการณ์ที่ประเทศกำลังประสบปัญหาวิกฤติอย่างรุนแรงมากกว่าครั้งใดๆ โดยเฉพาะทางด้านสาธารณสุข และ ทางด้านเศรษฐกิจ

ร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 มีข้อบกพร่องอย่างไม่อาจยอมรับได้ 4 ประเด็นสำคัญ คือ

  1. จัดงบประมาณแบบไม่จัดลำดับความสำคัญก่อนหลังของปัญหา ทั้งในมิติการฟื้นฟู เยียวยา การป้องกัน การจัดสวัสดิการทางสังคม การพัฒนาโอกาสทางเศรษฐกิจ อันสะท้อนถึงความไร้ศักยภาพและความสามารถในการวางแผนงบประมาณ ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญที่สอดคล้องความเป็นจริงของประเทศ ทำให้มองไม่เห็นภาพความชัดเจนในการ “ซ่อม” และ “สร้าง” ประเทศ ให้มีความเข้มแข็งพร้อมที่จะขึ้นเวทีไปแข่งขันกับประเทศอื่นในโลกได้ แต่กลับเป็นแผนงบประมาณที่สะท้อนให้เห็นภาพประเทศไทยที่ยังคงเป็นผู้ป่วยหนักได้อย่างชัดเจน
  2. จัดงบประมาณแบบปกป้องผลประโยชน์ของพวกพ้อง ที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ การปรับลดงบประมาณในส่วนของกระทรวงกลาโหมและกองทัพในสัดส่วนที่แทบจะน้อยที่สุด ในขณะที่กระทรวงซึ่งมีภารกิจในการดูแลทางด้านสาธารณสุข การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น ด้านการสาธารณสุข ด้านการศึกษา ด้านแรงงาน ด้านการพัฒนาสังคม กลับถูกปรับลดลงในสัดส่วนที่มากกว่างบประมาณด้านความมั่นคงและงบทางการทหาร สถานการณ์วันนี้เรากำลังเผชิญกับสงครามเชื้อโรค และ สงครามด้านเศรษฐกิจ ต้องการการป้องกันทางสุขภาพและความมั่นคงทางสังคม เศรษฐกิจ มิใช่ สงครามที่ต้องใช้อาวุธยุทโธปกรณ์มาห้ำหั่นเพื่อเอาชนะทางการทหาร
  3. จัดงบประมาณแบบไม่ใยดีกับทุกข์ร้อนของประชาชน โดยไม่มีความเข้าใจ และไม่ตระหนักถึงปัญหา รวมทั้ง
    ผลกระทบจากสภาวะวิกฤตของประเทศ ที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนอย่างเร่งด่วน จริงจัง ซึ่งกำลังประสบกับความเดือดร้อนทั้งทางเศรษฐกิจ สุขภาพ และสังคม ดังเช่นตัวอย่างการใช้งบประมาณในช่วงปีที่ผ่านมาที่รัฐบาลไม่สามารถบริหารจัดการงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจ SME ธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งวันนี้แทบจะตายสนิท รวมทั้งเรื่องสำคัญคือ การจัดซื้อวัคซีน และ อุปกรณ์ทางสาธารณสุขด้านต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้เพื่อเป็นประโยชน์ในการป้องกันโรคระบาดโควิด ได้อย่างรวดเร็ว ทันท่วงที กลับกลายเป็นปัญหาความล่าช้า จนปัญหาลุกลามไปใหญ่โต แทบจะเกินกำลังของระบบสาธารณสุขในการรับมือ
  4. จัดงบประมาณแบบไม่มีวิสัยทัศน์ที่มองการณ์ไกล ขาดงบประมาณที่วางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเตรียมตัวให้ประเทศออกจากวิกฤต เช่น การเตรียมจัดงบที่สนับสนุนการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล /การดูแลและฟื้นฟูงบประมาณให้ส่งเสริมกลุ่มธุรกิจ SM / การสนับสนุนการฟื้นฟูกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆทั้งธุรกิจการท่องเที่ยว /ธุรกิจร้านอาหาร /และธุรกิจภาคบริการต่างๆ / ธุรกิจรายย่อยจำนวนมากมายที่ประชาชนเผชิญ……ซึ่งล้วนเป็นธุรกิจที่กระทบกระเทือนและล่มสลายลงเพราะภาวะการระบาดของโควิด

จะเห็นได้ว่าการวางแผนงบประมาณปี 65 ของรัฐบาลนี้ เป็นการวางแผนงบประมาณตามกรอบคิดแบบงานประจำ อันเป็นกรอบคิดชุดเดิมมากกว่าการคำนึงถึงความเป็นจริงของประเทศในปัจจุบันและอนาคต ขาดการวางแผนอย่างมียุทธศาสตร์เพื่อจะจัดการนำประเทศให้ผ่านพ้นสภาวะวิกฤติ

เป็นแผนงบประมาณที่ไม่ได้สร้างความหวังให้กับประชาชน
เป็นแผนงบประมาณที่ไม่สามารถ “ซ่อม”และ “สร้าง” ประเทศ ได้
เป็นแผนงบประมาณที่ไม่อาจยอมรับในหลักการได้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและ ครม. ควรยอมรับความจริงว่าพวกท่านไม่มีศักยภาพที่จะนำพาประเทศผ่านวิกฤติใหญ่ครั้งนี้ไปได้ ….เพราะพวกท่านคือต้นตอสำคัญของปัญหา

ภูมิธรรม เวชยชัย
ที่ปรึกษา หัวหน้าพรรคเพื่อไทย
23 พฤษภาคม 64