“นิยม เวชกามา” พระสงฆ์ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม ย้ำ สำนักพุทธฯ ควรรับฟังผู้เชี่ยวชาญและราชบัณฑิตเพื่อหาทางออก
(24 พฤษภาคม 2564) ดร.นิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร เขต 2 พรรคเพื่อไทย ที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ว่า การกระทำของผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในฐานะเลขาธิการมหาเถรสมาคมกับกรรมการมหาเถรสมาคม อาจเป็นครั้งแรกที่ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เพราะได้ออกมติมหาเถรสมาคมให้พระเถระวัดสระเกศฯ พ้นจากความเป็นพระภิกษุ โดยเร่งรีบ รวบรัด ด่วนสรุปความเห็น งดดำเนินการสอบสวนพยานหลักฐาน โดยไม่ผ่านการตั้งกรรมการสอบตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ นึกๆ แล้วให้หวั่นๆ ใจว่า จะเกิดเรื่องเลวร้ายให้เป็นตราบาปกับวงการสงฆ์ คงจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่กรรมการมหาเถรสมาคมถูกแจ้งความดำเนินคดีในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ซึ่งก็เป็นกฎหมายฉบับเดียวกันกับที่เจ้าคณะใหญ่ หนกลางอ้างว่า เป็นพระภิกษุสามเณรต้องทำตามกฎหมายนี่แหละ โดยไม่ต้องไปใส่ใจพระธรรมวินัยแต่อย่างใด
ดร.นิยม กล่าวต่อไปว่า ขออธิบายพฤติการณ์แห่งการกระทำที่เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายมาตรา 157 ว่า นายณรงค์ ทรงอารมณ์ เลขาธิการมหาเถรสมาคม และนายสิปป์บวร แก้วงาม ผู้ตรวจราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, ในฐานะโฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ร่วมกันหรือสนับสนุนกัน อาจเป็นการกระทำเข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 86 กล่าวคือ กรรมการมหาเถรสมาคมเป็นเจ้าพนักงานตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ กรรมการมหาเถรสมาคมจึงเป็นตัวหลักในการเข้าองค์ประกอบความผิด ตามมาตรา 157
ส่วนนายณรงค์ ทรงอารมณ์ เลขาธิการมหาเถรสมาคม และนายสิปป์บวร แก้วงาม เป็นเจ้าพนักงานเพราะเป็นข้าราชการสังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ร่วมกันประชุมและมีมติมหาเถรสมาคมครั้งที่ 10/2564 มติที่ 236/2564 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564
เรื่อง กรณี อดีตพระภิกษุวัดสระเกศ 5 ราย กลับมาครองผ้าเหลือง นายณรงค์ ทรงอารมณ์ และนายสิปป์บวร แก้วงาม จึงอาจเป็นผู้กระทำความผิดในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ปอ.มาตรา 157 เพราะเป็นข้าราชการสังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือผู้สนับสนุน เพราะเป็นผู้รวบรวมเรียบเรียงถ้อยคำเป็นมติมหาเถรสมาคมดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมมหาเถรสมาคม และได้เข้าร่วมประชุม โดยภายหลังการประชุมนายสิปป์บวร แก้วงาม ได้ออกมาแถลงข่าวทำให้เกิดความเสียหายต่อวงการคณะสงฆ์ โดยมีเจตนาและจงใจให้เกิดความเสื่อมเสียแก่พระเถระผู้ใหญ่ โดยอ้างเอามติที่ประชุมมีใจความว่า
- มหาเถรสมาคมต้องปฏิบัติให้เอื้อต่อกฎหมาย ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ดังนั้น กรณีอดีตพระภิกษุทั้ง 5 รูป ข้างต้น พ้นจากความเป็นพระภิกษุสงฆ์ตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 โดยไม่ต้องเปล่งวาจา ตั้งแต่ศาลสั่งกักขัง และผู้มีอำนาจดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้ เมื่อปี พ.ศ.2561
- มอบหมายให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป และให้ดำเนินการได้ทันที โดยไม่ต้องรอรับรองรายงานการประชุมซึ่งเป็นมติที่ขัดต่อพระธรรมวินัย เพราะการจะพ้นจากความเป็นพระภิกษุได้นั้น มี 2 กรณี คือ (1) การพ้นจากความเป็นพระภิกษุเพราะต้องอาบัติปาราชิก 4 ประการ ได้แก่ เสพเมถุน, ลักทรัพย์, ฆ่ามนุษย์ และอวดอุตริมนุสธรรม (2) สมัครใจกล่าวคำลาสิกขา
การที่มหาเถรสมาคมประชุมแล้วมีมติว่า อดีตพระภิกษุทั้ง 5 รูป พ้นจากความเป็นพระภิกษุสงฆ์ตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 โดยไม่ต้องเปล่งวาจา จึงเป็นการขัดต่อพระธรรมวินัยดังกล่าวอย่างชัดเจน เพราะในพระธรรมวินัยไม่มีการพ้นจากความเป็นพระเพราะมาตรา 30 และตามบทบัญญัติมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ก็ไม่ได้ มีบัญญัติว่า พ้นจากการเป็นพระภิกษุสงฆ์โดยไม่ต้องเปล่งวาจา จึงเป็นการจงใจใส่ข้อความเพิ่มเข้าไปในพระธรรมวินัย เป็นการทำพระธรรมวินัยให้วิปริต และทำให้ผิดไปจากพระธรรมวินัย
นอกจากนั้น องค์กรปกครองสงฆ์ที่ชื่อว่า “มหาเถรสมาคม” เกิดขึ้นเพราะกฎหมายกำหนดไวในมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ และเมื่อเกิดขึ้นแล้วกฎหมายก็ยังให้อำนาจเอาไว้ด้วย เพื่อให้มหาเถรสมาคมใช้เป็นเครื่องมือในการปกครองสงฆ์ แต่เพื่อป้องกันไม่ให้กรรมการมหาเถรสมาคมใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม หรือใช้อำนาจตามอำเภอใจ ไปเบียดเบียนพระภิกษุสงฆ์สามเณร กฎหมายจึงกำหนดเอาไว้ด้วยว่า “แต่อำนาจที่มหาเถรสมาคมใช้นั้นจะต้องไม่ขัดต่อพระธรรมวินัยและกฎหมาย” ซึ่งตามมาตรา 15 ตรี แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 บัญญัติอำนาจหน้าที่มหาเถรสมาคมเอาไว้ว่า
“มาตรา 15 ตรี มหาเถรสมาคม มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม
(2) ปกครองและกำหนดการบรรพชาสามเณร
(3) ควบคุมและส่งเสริมการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่ การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์
(4) รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา
(5) ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น
เพื่อการนี้ ให้มหาเถรสมาคมมีอำนาจตรากฎมหาเถรสมาคม ออกข้อบังคับ วางระเบียบ ออกคำสั่ง มีมติหรือออกประกาศ โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายและพระธรรมวินัยใช้บังคับได้ และจะมอบให้พระภิกษุรูปใดหรือคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการตามมาตรา 19 เป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ก็ได้”
ตามมาตรา 15 ตรี ดังกล่าวนี้ได้กำหนดอำนาจและหน้าที่ของมหาเถรสมาคมไว้ชัดเจน โดยเฉพาะ ข้อ 4 “ต้องรักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา”และในวรรค 2 “กำหนดให้มหาเถรสมาคมมีมติที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายและพระธรรมวินัย”
ดังนั้น การที่มหาเถรสมาคมมีมติที่ 236/2564 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 โดยไม่มีการสืบเสาะหาข้อเท็จจริงด้วยการเรียกผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจง หรือไม่มีการเรียกเอกสารหลักฐานจากผู้ถูกกล่าวหามาประกอบการพิจารณา หรือไม่มีการให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร หรือไม่มีการใช้เอกสารหลักฐานแวดล้อมอื่น ๆ มาประกอบการพิจารณา และหรือไม่มีหนังสือไปสอบถามข้อเท็จจริงจากเจ้าพนักงานตำรวจ และเจ้าพนักงานราชทัณฑ์ซึ่งปฎิบัติหน้าที่ตามมาตรา 30 ในวันดังกล่าว ทั้งพยานหลักฐานที่นำมาสู่การพิจารณาในการลงมติดังกล่าว มหาเถรสมาคมก็ได้ยึดเพียงหลักฐานจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งเป็นคู่กรณีของพระเถระทั้ง 5 รูปเพียงด้านเดียวเท่านั้น
การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพราะ “เร่งรีบ รวบรัด ด่วนสรุปความเห็น งดดำเนินการสอบสวนพยานหลักฐาน” เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมติมหาเถรสมาคมกรณีนี้ยังเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 29 วรรคสอง เพราะพระเถระวัดสระเกศทั้งห้ารูปคดียังไม่ถึงที่สุดก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ แต่พระเถระทั้ง 5 รูป กลับถูกกระทำจากมหาเถระสมาคมและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเหมือนเป็นผู้มีความผิดสำเร็จแล้ว จึงขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ
ส.ส.ดร.นิยม กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นผู้กล่าวหา พร้อมทั้งเป็นผู้จัดทําเอกสาร และนําเสนอข้อมูลที่บิดเบือนอย่างเร่งด่วน เพื่อเสนอให้ที่ประชุมของมหาเถรสมาคมมี มติมหาเถรสมาคมให้พระเถระวัดสระเกศพ้นจากความเป็นพระภิกษุ ซึ่งเป็นการกระทําข้ามขั้นตอนที่กฎหมายกําหนดไว้อันเป็นสาระของการกระทําดังกล่าวตามมาตรา 24 มาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ และกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 11 (2521) ว่าด้วยการลงนิคหกรรม ประกอบกับ กฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการสํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ข้อ 13 (4) ที่กฎหมายกำหนดให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติต้องเสนอให้มหาเถรสมาคมตั้งกรรมการสอบเพื่อลงนิคหกรรม เมื่อไม่กระทำตามที่กฎหมายกำหนด พระเถระวัดสระเกศ จึงสามารถใช้ช่องทาง ของกฎหมายได้ ดังนี้
1) มติมหาเถรสมาคม เป็นคําสั่งทางปกครองที่มิชอบด้วยกฎหมาย ฟ้องศาลปกครองได้ตาม ตามมาตรา 12 และมาตรา 15 ตรี แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ประกอบกับมาตรา 9 (1) และวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง
2) การกระทําของผู้อํานวยการสํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จึงเป็นการกระทําความผิดต่อ ตําแหน่งหน้าที่ เพราะเป็นการกระทําโดยมิชอบ ทําให้เกิดความเสียหายแก่พระเถระวัดสระเกศทั้ง 5 รูป ตามมาตรา 157 ซึ่งพระเถระวัดสระเกศเป็นผู้เสียหายมีสิทธิเลือกฟ้องเองโดยตรงต่อศาลอาญาในกรณีความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ที่มีโทษทางอาญา หรือจะฟ้องต่อองค์กรอิสระ คือ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ทําหน้าที่ไต่สวน ชี้มูล ความผิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ได้ อีกอย่างหนึ่ง ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน แม้คนอื่นซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุรูปใดหรือบุคคลใดก็สามารถกล่าวโทษเอาผิดได้ ตามมาตรา 2 (8) ประกอบกับมาตรา 123 และมาตรา 127 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแม้ว่า ผู้อํานวยการสํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จะมีข้อต่อสู้ว่า มิได้จงใจ หรือมีเจตนา กระทําการดังกล่าว เพราะเข้าใจว่า พระเถระวัดสระเกศทั้ง 5 รูป พ้นจากความเป็นพระภิกษุตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ก็ฟังไม่ขึ้น เพราะในการจะชี้ว่าพระรูปหนึ่งรูปใดพ้นจากความเป็นพระภิกษุหรือไม่นั้น ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ กำหนดให้ผู้อํานวยการสํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ต้องเสนอมหาเถรสมาคมตั้งกฎนิคหกรรม เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงกับบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ได้มีการดําเนินการให้สละสมณเพศ ตามมาตรา ๒๙ หรือมาตรา 30 อย่างรอบด้านให้ครบถ้วนเสียก่อน ประกอบกับผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติควรจะต้องนําผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการการศาสนาฯ และหนังสือความเห็นของ ศ.อาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ ศ.ดร.สมภาร พรมทา ราชบัณฑิตทางพระพุทธศาสนา เปรียญธรรม 9 ประโยค ทั้ง 2 ท่าน ที่แจ้งให้ทราบว่า พระเถระวัดสระเกศทั้ง 5 รูป ยังมีสถานะเป็นพระภิกษุ ในบวรพระพุทธศาสนาตามพระธรรมวินัยและกฎหมายมาเสนอต่อที่ประชุมมหาเถรสมาคมประกอบในการพิจารณาด้วย แต่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและกรรมการมหาเถรสมาคมก็หาทําเช่นนั้นไม่
“ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาพระสงฆ์ถูกดำเนินคดีเงินทอนวัดอย่างไม่เป็นธรรม จากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แม้จะสามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ต่อศาลได้ว่าไม่ได้มีการทุจริต ยักยอก เบียดบังเอาทรัพย์ไปเป็นประโยชน์ตนแต่อย่างใด แต่พระสงฆ์เหล่านั้นก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งยังถูกกระทำจากพระสงฆ์ด้วยกันโดยไม่คำนึงถึงพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า และใช้อำนาจทางการปกครองที่ได้มาตามกฎหมายทำร้ายพระสงฆ์ด้วยกันเอง ครบรอบ 3 ปีของวงจรอุบาทว์สร้างวาทะกรรมคดีเงินทอนวัดแล้ว ผมอยากฝากเตือนสติคณะสงฆ์ เราจะอยู่กันแบบนี้ใช่ไหม?” ส.ส.ดร.นิยม กล่าว