“สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” ชี้ รัฐบาลบริหารโควิดล้มเหลวผิดพลาดทำคนตาย เศรษฐกิจวิกฤตเข้าขั้น ICU โครงสร้างงบประมาณผิดพลาดไม่ตอบโจทย์ปัญหาประชาชน

(31 พฤษภาคม 2564) นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายงบประมาณ ปี 2565 ชี้ให้เห็นรัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพ บริหารจัดการผิดพลาด โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤตการระบาดของเชื้อโควิด-19 จนกระทบไปถึงเศรษฐกิจ ทำให้พี่น้องประชาชนต้องยากลำบากแสนสาหัสความว่า

“วันนี้ เป็นวันที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นวันที่รัฐสภากำลังจะทำหน้าที่อภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี พุทธศักราช 2565 ซึ่งถือได้ว่า เป็นงบประมาณที่มีนัยยะสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตของประชาชนทั้งประเทศ เราจะฝ่าช่วงเวลาวิกฤตของประเทศและพาประชาชนอยู่รอดได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาร่างงบประมาณฉบับนี้ การจัดทำงบประมาณ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสามารถตอบปัญหาการแก้ไขวิกฤตของประเทศและประชาชนให้ได้ โดยเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบันเป็นภาวะวิกฤตด้านความมั่นคงทางสุขภาพ ที่เชื่อมโยงกับสถานการณ์เศรษฐกิจ แรงงาน และสวัสดิการในภาวะฉุกเฉิน การจัดสรรงบประมาณเพื่อตอบสนองและจัดการปัญหาหลายมิติ จึงจำเป็นต้องมีความละเอียดอ่อน ครอบคลุม การกระจายทรัพยากรที่ทั่วถึงและเหมาะสม ยิ่งไปกว่านั้น การจัดการและบริหารงบประมาณต้องอาศัยบุคคลที่เป็นผู้บริหารงบประมาณที่มีศักยภาพ สามารถเข้าใจปัญหา จัดการกับความสำคัญเร่งด่วนในการแก้ปัญหา รวมถึงการป้องกันและรับมือวิกฤตนี้ได้อย่างชาญฉลาด

วันนี้ พี่น้องประชาชนกำลังลำบากอย่างแสนสาหัส แต่รัฐบาลกลับวางแผนจัดงบประมาณปี 2565 ราวกับประเทศอยู่ในสถานการณ์ปกติดี ?

“ท่านปล่อยให้พวกเขา ดิ้นรนกันเอง เพื่อเอาชีวิตรอดท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด”

ท่านนายกฯ ไม่ได้ยินเสียงของประชาชนที่กำลังเดือดร้อน ที่ดังระงมไปทุกภาคส่วนเลยหรือครับ หรือท่านมีศักยภาพในการคิด และบริหารจัดการได้เต็มที่เท่านี้ หรือท่านไม่สนใจว่า ประเทศจะเสียหายอย่างไร ประชาชนจะเดือดร้อนแค่ไหน ขอเพียงพวกท่านยังรักษาอำนาจ และผลประโยชน์ของพวกพ้องได้ ก็เพียงพอแล้ว ใช่หรือไม่?

การรับมือโควิด-19 ระลอกแรกในช่วงต้นปี 2563 ประเทศไทยอาจจะได้รับคำชื่นชม ว่าสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ดี เป็นเพราะต้นทุนของประเทศเราดี นั่นคือ ระบบสาธารณสุขพื้นฐานของประเทศเรา ได้ถูกวางไว้แล้วอย่างดี และพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนที่ท่านจะเข้ามาเป็นรัฐบาล

ในปีที่ผ่านมา รัฐบาลของท่านวนเวียนอยู่กับความสำเร็จ ที่ท่านปลาบปลื้มว่า เป็นความสำเร็จของท่านในการควบคุมโรคระบาดได้ดี แต่ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลท่านกลับมืดบอด มองไม่เห็นความเดือดร้อนจากการพังทลายของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะทางด้านบริการ การท่องเที่ยว รวมทั้งธุรกิจ SME ตัวเล็กตัวน้อย ที่จมน้ำตายไปต่อหน้าต่อตาโดยท่านไม่ได้ใส่ใจรับฟังเสียงตะโกนร้องขอความช่วยเหลือ ที่ก้องไปทั่วประเทศ

ท่านในฐานะผู้นำประเทศ เลือกที่จะฟัง เลือกที่จะมองแต่ภาพสวยงาม ที่ท่านเรียกเอาเองว่า ความสำเร็จที่เป็น ‘ของท่าน’ เท่านั้น ท่านไม่ได้มองเห็นการแก้ไขปัญหาแบบองค์รวมให้ประเทศ ท่านไม่ได้ประเมินสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นและปล่อยให้พวกเขาดิ้นรนกันเองลำพัง เพื่อเอาชีวิตรอดท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด

“หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้คนตกงานสูงที่สุด”
การบริหารประเทศของรัฐบาล ภายใต้การนำของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจที่ชื่อ ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ทำให้ มีคนตกงานในระบบประกันสังคมสูงที่สุดตั้งแต่มีประเทศไทย อัตราการว่างงานทะยานขึ้นอย่างน่ากังวล ทำให้คนไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติ ทำให้เศรษฐกิจเสียหายกว่า 1 ล้านล้านบาท และเศรษฐกิจประเทศยังมีแนวโน้มจะจมดิ่งต่อไป อย่างไม่รู้จุดสิ้นสุด
ตัวอย่างความล้มเหลวที่กล่าวมานั้น บ่งบอกว่า ประเทศเรากำลังมีปัญหาหนักหนา สาหัส และภัยทางเศรษฐกิจจะคายพิษมาทำร้ายประชาชนซ้ำๆ อย่างต่อเนื่องมากกว่านี้ ซึ่งทั้งหมดพิสูจน์มาพอแล้วว่า ‘รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ มือไม่ถึง บริหารจัดการไม่ได้

“งบประมาณกระทรวงกลาโหม ติด TOP FIVE มากกว่างบประมาณกระทรวงสาธารณสุขเกือบ 5 หมื่นล้าน”

วันนี้ท่านยังจัดงบประมาณให้กับกระทรวงกลาโหม มากที่สุด อยู่ใน “ระดับ TOP FIVE” และที่สำคัญเป็นวงเงินงบประมาณ ที่มากกว่าของกระทรวงสาธารณสุข ถึงเกือบ 5 หมื่นล้านบาท

พลเอกประยุทธ์ครับ วันนี้เรากำลังทำสงครามอยู่กับใครหรือครับ? แน่นอน การรับรู้ของประชาชนทั้งประเทศ รู้ว่านี่มิใช่การทำสงครามทางการทหารที่ต้องใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ แต่ขณะนี้เรากำลังทำสงคราม กับโรคระบาดที่น่ากลัวที่สุด เท่าที่เราได้พบในช่วงชีวิตของพวกเราทุกคน

เราจะไปรบกับใคร จะมีกำลังพลมากมาย มีอาวุธเหลือเฟือไปเพื่ออะไร ? งบประมาณผูกพันข้ามปีของ 3 เหล่าทัพ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ มี ‘งบผูกพันเฉพาะปี 2565 ถึงปี 2568’ รวมเกือบ 9 หมื่นล้านบาท เพื่ออะไร?

“แผนงบประมาณของประเทศ ที่ถูกจัดขึ้นอย่างไร้ยุทธศาสตร์ในสภาวะที่ประเทศเผชิญวิกฤตอย่างรุนแรง”
การจัดงบประมาณเช่นนี้ และด้วยวิธีคิดที่ขาดยุทธศาสตร์ จะทำให้ GDP ของประเทศตกต่ำลง การจัดเก็บภาษีปี 2565 จะพลาดเป้ารุนแรงเป็นปีที่ 3 ต่อเนื่อง และจะเรื้อรังไปถึงปี 2566 จนไม่มีทางแก้ นอกจากจะออก พ.ร.ก.กู้เงินจำนวนมากอยู่ร่ำไป ภาวะดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นจนกระทั่งงบประมาณในอนาคตติดกับดัก ไม่มีทางออก

เมื่อประกอบเข้ากับผลงานที่ล้มเหลวในการบริหารจัดการปัญหาของประเทศ ดังที่ผมได้กล่าวไปแล้วในตอนต้น ผมต้องเรียนว่า แผนงบประมาณของประเทศ ที่ถูกจัดขึ้นอย่างไร้ยุทธศาสตร์ ในสภาวการณ์ที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตอย่างรุนแรงเช่นนี้

“ผม ‘ไม่อาจยอมรับ’ ให้ผ่านสภาแห่งนี้ได้”

สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย
และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร