“เลขาฯพรรคเพื่อไทย” ชี้ งบประมาณปี 65 หาประโยชน์ทางการเมือง เอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง
(31 พฤษภาคม 2564) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย อภิปรายร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 โดยชี้ให้เห็นว่านายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้อำนาจจากการรัฐประหาร ยึดอำนาจของประชาชนนั้น “มือไม่ถึงในการบริหารประเทศชาติบ้านเมือง” พร้อมกล่าวถึงปัญหาในภาพกว้างของงบประมาณปี 2565 ที่หาประโยชน์ทางการเมืองเป็นหลัก ประโยชน์ของประชาชนเป็นรอง ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจและโรคระบาดที่รัฐไม่เคยแสดงให้เห็นความจริงใจในการจัดการที่แท้จริง ความว่า
“วันนี้พี่น้องประชาชนเดือดร้อนสาหัส แต่รัฐบาลจัดทำแผนงบประมาณปี 65 ราวกับว่าเป็นสถานการณ์ปกติ ตลอดเวลา 7 ปี มีการใช้งบประมาณจำนวนมากและแก้ปัญหาไม่ได้ โดยเฉพาะจากสถานการณ์วิกฤติโควิดควรจัดทำงบประมาณด้วยความระมัดระวัง แต่ก็กลับทำร่างงบประมาณแบบปกติ เมื่อ 7 ปีที่แล้วจากที่ท่านรับปากไว้ว่าจะคืนความสุขให้กับประชาชน กลับกลายเป็นคืนความทุกข์ให้ประชาชน ถ้าท่านอยู่ต่อ ไม่ใช่ความสุขที่เพิ่ม มีแต่ความทุกข์เพิ่ม หนี้เพิ่มเป็นเช่นนี้ประเทศจะไปไหวหรือไม่ ถ้าผมปล่อยให้เป็นอย่างนี้ จะทำให้ประเทศชาติเสียหาย เมื่อดูจากงบประมาณรายจ่ายจำนวน 3.1 ล้านล้านบาท ผมขอชี้ให้เห็นประเด็น ดังนี้
- ร่างงบประมาณ ฉบับนี้ หาประโยชน์ทางการเมือง เอื้อแต่ประโยชน์ต่อพวกพ้อง
ปัจจุบันรัฐวิสาหกิจในประเทศไทยมี 52 แห่ง มีผลประกอบการขาดทุนหลายแห่ง เป็นปัญหาค้างคาที่รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขได้
นอกจากนี้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ยังมุ่งแต่จัดตั้งและแต่งตั้งพวกพ้องตนเองให้เป็นผู้บริหารภายในรัฐวิสาหกิจเกือบทุกแห่ง ซึ่งขาดความรู้ความสามารถโดยตรง ไม่มีความเป็นมืออาชีพ เป็นเพียงการตอบแทนบุญคุญจากการรัฐประหารที่ผ่านมา และรัฐวิสาหกิจหลายแห่งยังมีการคอร์รัปชัน เช่น องค์การคลังสินค้า ที่มีการทุจริตการจัดซื้อถุงมือยาง 112,500 ล้านบาท เป็นต้น
การใช้เงินงบประมาณของท่านตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ระบบราชการมีขนาดใหญ่โตเกินความจำเป็น ในขณะที่ภาคประชาชนถูกลดอำนาจลง 5 ปีแรก ท่านเป็นนายกฯจากการรัฐประหารยึดอำนาจจากประชาชนอ้างว่า จะอยู่ไม่นาน จะคืนความสุขให้ประชาชน และ 2 ปีที่ผ่านมา ท่านเป็นนายกฯ โดยใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจ ซึ่งตลอด 7 ปีพิสูจน์แล้วว่า การบริหารของท่านมือไม่ถึง
- งบกลาโหมมากกว่างบแก้ไขวิกฤตโควิด
งบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณ 2565 ตั้งไว้ 2,360,543 ล้านล้านบาท เป็นสัดส่วนร้อยละ 76.15 ของงบประมาณ ในขณะที่งบรายจ่ายเพื่อการลงทุนเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 20.14 ของงบประมาณ เป็นจำนวนเงิน 624,399.9 ล้านล้านบาท ที่สำคัญส่วนหนึ่งของงบลงทุนอยู่ในกระทรวงกลาโหม เป็นเรื่องการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์แทบทั้งสิ้น ซึ่งไม่เป็นการลงทุนที่นำไปสู่รายได้ให้แก่รัฐ
กระทรวงกลาโหมได้งบประมาณในปี 2564 คิดเป็นร้อยละ 6.5 ของงบประมาณ แต่ในปี 2565 งบกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 6.6 ของงบประมาณ มากกว่าปีที่แล้ว 0.1% ในขณะที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤติโควิด-19 กองทัพกลับนำเอาเม็ดเงินไปจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ รวมกัน 3 เหล่าทัพกว่า 8,274 ล้านบาท ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยไม่ได้ตกอยู่ในเป้าหมายการโจมตีจากประเทศใดเลย ทั้งนี้ไม่รวม งบผูกพันข้ามปี โดยเฉพาะการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ
กระทรวงกลาโหมมีงบผูกพันในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์กว่า 120,000 ล้านบาท ผูกพันระหว่างปี 2565 – 2568 รวม 88,969 ล้านบาท เป็นของกองทัพเรือ และผูกพันระหว่างปี 2565 – 2568 รวม 37,849 ล้านบาท เป็นการจัดซื้อเรือดำน้ำแบบจีทูจีกับรัฐบาลจีน ซึ่งงบประมาณกลาโหมไม่ได้มีความจำเป็นหากเทียบกับวิกฤติสาธาณะสุขจากวิกฤติโรคระบาด
กระทรวงสาธารณสุข ถือว่าเป็นกระทรวงหลักในการดูแลสุขภาพคนไทย โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด แต่ การจัดงบประมาณในปี 2565 รัฐบาลกลับไม่ให้ความสำคัญกระทรวงนี้แต่อย่างใด อีกทั้ง ยังจัดตั้ง ศบค. ขึ้นมา ซึ่งประกอบไปด้วยฝ่ายความมั่นคง ซึ่งเป็นทหารมาควบคุม ไม่มีความรู้ด้านระบาดวิทยา ยึดอำนาจจากกระทรวงสาธารณสุข ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญโดยตรง ซึ่งผลการดำเนินงานของ ศบค. เป็นที่ประจักษ์ถึงความล้มเหลวมาจนถึงปัจจุบัน
หากมาดูที่งบกระทรวงสาธารณสุขจะเห็นว่าลดลงถึง 4.3 พันล้านบาท คิดเป็น -2.74% ถือเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 12 ปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อการลดงบด้านสุขภาพคนไทยลดลงถ้วนหน้าจนไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโควิด
โดยนายประเสริฐชี้ให้เห็นตัวเลขงบของกรมควบคุมโรคติดต่อ ที่มีหน้าที่เฝ้าระวังป้องกัน และควบคุมโรค ซึ่งถูกตัดงบประมาณมากที่สุดถึง 480 ล้านบาท หรือมากถึง -12% งบประมาณที่ได้เทียบเท่ากับปี 2555 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดูแลเรื่องการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฎิบัติการทั้งหมด ถูกตัดงบมากถึง 10 % และเหลืองบน้อยที่สุดในรอบ 6 ปี ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการตรวจโควิดแค่ 50,000 ตัวอย่างต่อวัน จัดอยู่ในอันดับที่ 37 ของโลก และที่ 30 ของเอเชีย และเหลืองบน้อยที่สุดในรอบ 6 ปี
สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ถือว่าเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงด้านวัคซีน กลับได้งบเพียง 22 ล้านบาท ทั้งๆ ที่วันนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาเรื่องวัคซีนอย่างมาก
- บริหารวัคซีนล้มเหลว กระจายอำนาจไม่เป็น เน้นมือใครยาว สาวได้สาวเอา
“การบริหารการกระจายวัคซีน ไร้ยุทธศาสตร์ ไร้ทิศทาง อย่างสิ้นเชิง” การที่รัฐบาลประกาศว่าการฉีดวัคซีน เป็น ‘วาระแห่งชาติ’ มีแต่วาทะกรรมสวยหรูแต่ไม่มีรายละเอียดแสดงให้เห็น คนไทยยังเข้าไม่ถึง ยกตัวอย่างจังหวัดที่เป็นพื้นที่สีแดง ได้รับการจัดสรรวัคซีนน้อยกว่าจังหวัดที่เป็นพื้นที่ สีขาวและสีเขียว เช่น จังหวัดสมุทรปราการ ได้รับการจัดสรรเข็มที่ 1 ในเดือนมิถุนายน จำนวน 237,000 โดส แต่จังหวัดปทุมธานี อยู่ในโซนสีแดง ได้รับการจัดสรร 62,000 โดส แม้กระทั่ง ส.ส. /ฝั่งรัฐบาลอย่างน้อย 2 พรรค ยังออกมาวิจารณ์เรื่องการระบายวัคซีนของรัฐบาล ให้รื้อระบบการจัดสรรที่ไม่เป็นธรรม กล่าวหาว่ามีการเล่นพรรคเล่นพวก กลายเป็น ‘ศึกชิงวัคซีน’
“การรวบอำนาจไว้ที่นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว นั้นทำให้เกิดสูญญากาศในการทำงาน รัฐมนตรีต่างคนต่างทำ เห็นประโยชน์ทางการเมือง มากกว่าประโยชน์ของประชาชน”
แผนงบประมาณปี 2565 รัฐบาลหั่นงบประมาณท้องถิ่นลงอีก 73,261 ล้านบาท และหั่นเงินอุดหนุนให้แก่ท้องถิ่นลงอีก 15,988 ล้านบาท
ซึ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้ยิ่งแย่ลงกว่าเดิม หากดูผลกระทบของโรคระบาดโควิดส่งผลให้รายได้ท้องถิ่นลดลง สังเกตได้จากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ขยายเวลาการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และลดอัตราการจัดเก็บลง 90 % เมื่อรายได้ลดลง แทนที่รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาท้องถิ่นที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะเน้นการกระจายอำนาจเป็นหลัก
การจัดสรรงบเงินอุดหนุนเฉพาะกิจเช่นนี้จึงไม่ต่างอะไรกับ ‘มือใครยาวสาวได้สาวเอา’ ไม่ใช่การจัดสรรที่เป็นธรรมและก่อให้เกิดปัญหาการวิ่งเต้นงบประมาณ พร้อมเสนอว่า รัฐบาลควรยกเลิกเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ และกระจายงบประมาณสู่ท้องถิ่นด้วยเงินอุดหนุนทั่วไปอย่างเป็นธรรม ทั่วถึง และเท่าเทียม
หากรัฐบาลกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นบริหารภารกิจเองได้ ไม่รวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง คืนอำนาจท้องถิ่น เพื่อช่วยเหลือประชาชนจะทำให้การแก้ไขปัญหาโควิดได้รวดเร็วขึ้น แต่ท่านกลับไม่ทำ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจหาเชื้อ การจัดหาวัคซีน ถ้าท้องถิ่นทำได้เอง คงไม่มีปัญหาเกิดขึ้นเหมือนทุกวันนี้ และวันนี้คนไทยคงได้ฉีดวัคซีนทุกคนแล้ว
- ประชาชนขาดความเชื่อมั่น วิกฤตศรัทธาในตัวนายกรัฐมนตรี
จากสถานการณ์ในปัจจุบันประชาชนกำลังขาดความเชื่อมั่นในการทำงานของนายกรัฐมนตรี จนกลายเป็น ‘วิกฤตศรัทธา’ ทั้งการบริหารงบประมาณที่พลเอกประยุทธ์ อาจนำพาไปสู่ความเสี่ยงด้านวินัยการเงินการคลัง และการบริหารวัคซีนที่ประชาชนก็ไม่อาจไว้วางใจเชื่อมั่นในคุณภาพของวัคซีน
นอกจากนี้ การบริหารของพลเอกประยุทธ์ 7 ปี ยังมีปัญหาทุจริตและคอรัปชั่นสูงมาโดยตลอด ปัจจุบันประเทศไทยถูกจัดอันดับปัญหาการทุจริตอยู่ที่ 104 จาก 180 ประเทศทั่วโลกซึ่งลดลงทุกปี จนเพิ่งมีการประกาศให้เรื่อง การทุจริตและคอรัปชั่นเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลอด 6 ปีที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ไม่มีความตั้งใจในการแก้ไขแต่อย่างใด
“ด้วยเหตุดังกล่าว กระผมจึงไม่รับหลักการร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565”