‘จิราพร’ ซัดรัฐบาลหยุดเอาประชาชนเป็นตัวประกัน มัดมือชกสภาผ่าน พ.ร.ก. เงินกู้ 500,000 ล้าน สร้างฐานเสียงให้ตัวเอง
เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 64 นางสาวจิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด เขต 5 พรรคเพื่อไทย ได้กล่าวในการอภิปราย “พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564” วงเงิน 500,000 ล้านบาท ว่าไม่มีทางปล่อยให้ พ.ร.ก. ฉบับนี้ผ่านอย่างแน่นอน เพราะถ้าดูที่มาที่ไปของรวมถึงแนวทางการใช้เงินจะพบว่า แท้จริงแล้วรัฐบาลสามารถหลีกเลี่ยงการออกเป็น พ.ร.ก. และสามารถดำเนินการในรูปแบบ พ.ร.บ. ได้แต่เลือกที่จะไม่ทำ กลับพยายามอ้างความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ และจงใจจะใช้ประชาชนเป็นตัวประกันเพื่อบังคับให้สภาฯ ต้องผ่าน พ.ร.ก.ฉบับนี้โดยเร็ว
จิราพร กล่าวต่อว่า การตราพระราชกำหนดฉบับนี้ คณะรัฐมนตรีอ้างความจำเป็นเร่งด่วนตามมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งสามารถจะกระทำได้ในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ อย่างไรก็ดี ในร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ที่เพิ่งผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรวาระที่ 1 ไปมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่ารัฐบาลหั่นงบสาธารณสุขลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศที่กำลังเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 และมีข้อสังเกตว่าไม่มีการตั้งงบเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 เอาไว้ในงบกลางดังเช่นในงบประมาณปี 2564 ที่ตั้งไว้ถึงจำนวน 40,000 ล้านบาท ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงกับสภาฯ ในการประชุมครั้งนั้นว่า จะมาใช้เพิ่มเติม จาก พ.ร.ก. เงินกู้จำนวน 500,000 ล้านบาทฉบับนี้ ซึ่งปรากฏว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ มีการตั้งงบประมาณด้านสาธารณสุขเอาไว้จำนวน 30,000 ล้านบาท แสดงว่าแท้จริงแล้ว รัฐบาลมีการวางแผนเพื่อกู้เงิน 500,000 ล้านบาท ตั้งแต่แรก พร้อมๆกับการเริ่มจัดทำ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปี 2565 หรือไม่ จึงจงใจไม่จัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขและการจัดการโควิด-19 ไว้ใน พ.ร.บ. งบประมาณปกติให้เพียงพอ แต่เก็บเอาไว้เพื่อมากู้นอกระบบในรูปแบบ พ.ร.ก. แทน ซึ่งจะยากต่อการตรวจสอบมากขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น ในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เมื่อวันจันทร์ที่ 7 มิ.ย. 64 ที่ผ่านมา สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ในปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลมีการวางแผนจะกู้เงินเพียง 100,000 ล้านบาท จากก้อน พ.ร.ก.เงินกู้ ทั้งหมด 500,000 ล้านบาท และที่เหลือจะทยอยกู้ แบบนี้จึงเท่ากับว่าแท้จริงแล้วเงินที่เหลืออีกจำนวน 400,000 ล้านบาท ไม่ได้จำเป็นเร่งด่วนขนาดที่จะรอใช้ใน พ.ร.บ. งบประมาณปกติไม่ได้ เพราะกว่าจะได้ใช้จริงก็ต้องรอขึ้นปีงบประมาณใหม่ นั่นหมายความว่า ถ้ารัฐบาลจริงใจในการใช้เงินที่เป็นภาษีของประชาชนเพื่อบริหารจัดการด้านวัคซีนและแก้ปัญหาโควิดจริง ก็สามารถใส่ไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณปกติได้ตั้งแต่แรก
ในการกู้ครั้งแรก จำนวน 1 ล้านล้านบาท แทบไม่มีรายละเอียดโครงการต่างๆ ให้สภาฯ พิจารณา แต่ได้อนุโลมให้เพราะเข้าใจได้ว่า เป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นกะทันหัน ยากต่อการประเมินสถานการณ์เพื่อเตรียมโครงการต่างๆ ในการแก้ปัญหา แต่ในการกู้เงินครั้งนี้ รัฐบาลได้ผ่านประสบการณ์รับมือกับการระบาดมาแล้วถึง 3 ครั้ง ตั้งแต่การระบาดระลอกแรกในประเทศไทยจนถึงปัจจุบันที่มีการขอกูเงินผ่าน พ.ร.ก. วงเงิน 500,000 ล้านบาทฉบับนี้ ผ่านมากว่า 1 ปี 4 เดือน รัฐบาลก็ยังเหมือนไม่มีประสบการณ์ในการเตรียมรายละเอียดโครงการเพื่อแก้วิกฤต กลับมีเพียงกระดาษไม่กี่แผ่นให้สภาฯ พิจารณาเหมือนเดิม แล้วจะวางใจให้รัฐบาลไปใช้เงินจำนวนมหาศาลก้อนใหม่นี้เพิ่มอีกได้อย่างไร
ทั้งนี้ ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากวิกฤตโควิด-19 เข้าใจได้ว่า รัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อแก้ปัญหา แต่การใช้เงินเป็นจำนวนมากไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจจะฟื้นได้เสมอไป เพราะหัวใจสำคัญคือวิสัยทัศน์และประสิทธิภาพของการใช้เงินของผู้นำประเทศ ตราบใดที่คนใช้เงินยังเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าทีมเศรษฐกิจผู้ที่ไม่เคยมีความรู้ความเข้าใจด้านเศรษฐกิจเลยแม้แต่น้อย บริหารประเทศล้มเหลวมาตลอด 7 ปี และพิสูจน์ความด้อยประสิทธิภาพของตัวเองมาแล้วในการบริหารจัดการเงินกู้มหาศาลจำนวน 1 ล้านล้านบาท ทำให้เกิดวิกฤตซ้อนวิกฤต จึงไม่อาจวางใจให้ผู้นำที่ไร้ความรู้ความสามารถอย่างร้ายแรงท่านนี้ได้มีโอกาสใช้เงินก้อน 500,000 ล้านบาท เพิ่มอีกแน่นอน
“ขอให้รัฐบาลหยุดอ้างความจำเป็นเร่งด่วน หยุดเอาความเดือดร้อน ความเป็นความตายของประชาชนเป็นตัวประกันเพื่อให้สามารถออก พ.ร.ก.เงินกู้ 500,000 ล้านบาทฉบับนี้ เปิดโอกาสให้รัฐบาลได้ใช้เงินอย่างมือเติบไปกับโครงการแจกต่างๆ สร้างประโยชน์ทางการเมืองให้กับตัวเองแบบหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของสภาฯ โดยไม่คำนึงถึงความยากลำบากที่แท้จริงของประชาชน และยังเป็นการโยนหนี้ก้อนโตให้คนทั้งประเทศต้องมาแบกรับภาระแทนแบบไม่เห็นอนาคต” จิราพรกล่าว