นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย แถลงข่าวสรุปประเด็นการอภิปราย พ.ร.ก. เงินกู้ 5 แสนล้าน

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย แถลงข่าวผลการพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เป็นฉบับเพิ่มเติมเสนอโดยคณะรัฐมนตรี โดยสภาพิจารณาไปวันที่ 9-10 มิถุนายนโดยสภาเสียงข้างมากยืนยันรับร่าง พ.ร.ก.นี้ เนื้อหาสาระการอภิปราย ทั้งฝั่งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ต่างมีเหตุผลสนับสนุน คัดค้าน และมีข้อเสนอแนะในเรื่องของการนำเงินไปใช้แก้ปัญหาโรคระบาดโควิด ดังนี้

พรรคฝ่ายรัฐบาล มีข้อเปรียบเทียบจากร่าง พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทฉบับแรกและฉบับ 5 แสนล้านว่ามีการตั้งวัตถุประสงค์ไว้เหมือนกันคือด้านสาธารณสุข ด้านการเยียวยา และการฟื้นฟู ว่าการกู้เงินที่ผ่านมาไม่ได้แก้ปัญหาการระบาด ไม่ได้เยียวยาประชาชนและไม่ได้ฟื้นฟูภาคธุรกิจเลย

พรรคฝ่ายค้าน มีจุดยืนชัดเจนไม่อนุมัติ พ.ร.ก.ฉบับนี้ ด้วยเหตุผลว่า

ประการแรก การเสนอ พ.ร.ก.นี้ ไม่ได้เป็นไปตามรธน.มาตรา 272 ว่าด้วยต้องมีเหตุฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วนที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ แต่รัฐบาลเห็นว่าเร่งด่วนจึงเสนอสภา แต่ฝ่ายค้านเห็นว่าไม่เร่งด่วน โดยดูจากการใช้เม็ดเงินเบิกจากจาก พ.ร.ก.ฉบับแรก 1 ล้านล้านบาท ใช้เงินไม่ตามเป้าหมาย

ประการสอง เรื่องกรอบวินัยการเงินการคลังกำหนดเพดานหนี้สาธารณะไว้ไม่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ แต่จากการคำนวณหนี้สาธารณ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 อาจมีหนี้สาธารณะสูงไปถึง 62 เปอร์เซ็นต์ และขึ้นอยู่กับจีดีพีของประเทศด้วย การใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่ผ่านมา ไม่สามารถยับยั้งการระบาด การฟื้นฟู เยียวยาที่ไร้ประสิทธิภาพ ไม่สอดคล้องไม่เหมาะสมสถานการณ์

ประการสาม เม็ดเงินที่กู้ใหม่ ถือว่าน้อยมากและไม่สามารถแก้ปัญหาได้ โดยเชื่อว่าในสถานการณ์แบบนี้ ถ้าจะใช้เงินจริงๆ ควรต้องใช้ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท แต่การขอใช้เงินแค่ 5 แสนล้านและใช้เป็นเบี้ยหัวแตกแบบนี้เท่ากับตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

ประการสี่ เรื่องความสามารถในการบริหารหนี้ การกู้ การหาเงินมาใช้หนี้ และปัญหาใหญ่ของรัฐบาลชุดนี้คือ ความสามารถในการบริหารเม็ดเงินของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี

ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน พูดคุยกันว่า จะตั้งกรรมาธิการเพื่อติดตามการใช้เม็ดเงินก้อนนี้ ซึ่งจะทำได้ต่อเมื่อ พ.ร.ก.ฉบับนี้ได้รับอนุมัติจากวุฒิสภาก่อน จึงจะเสนอเพราะเคยมี กมธ. ติดตามเงินกู้ 1 ล้านล้านอยู่แล้วแต่ไม่สามารถเชื่อถือได้

ดังนั้น โดยภาพรวม พ.ร.ก.5 แสนล้านฉบับนี้จะเป็นภาระให้ลูกหลาน ปัจจุบันหนี้สาธารณะของประเทศอยู่ที่ 8.5 ล้านล้าน และถ้าบวกหนี้ก้อนนี้เข้าไปจะเป็น 9 ล้านล้านบาท และต้องเป็นภาระงบประมาณที่ต้องใช้หนี้ทุกปี ยกตัวอย่างปีนี้ เงินงวดหนี้สาธารณะ 2.9 แสนล้านบาท แต่เป็นเงินต้นแค่ 1 แสนล้าน ดอกเบี้ย 1.9 แสนล้าน ดอกเบี้ยท่วมเงินต้นสองเท่า ดังนั้นกว่าจะใช้หนี้ก้อนนี้เสร็จใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 100 ปี