‘จิราพร’ ชวนจับตา 24 มิ.ย. ชี้ชะตาประเทศ ย้ำหากรัฐบาลจริงใจ CPTPP ต้องโปร่งใส แก้รัฐธรรมนูญต้องเพื่อ ปชช.
นางสาวจิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด ในฐานะรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าในวันพรุ่งนี้ (24 มิ.ย. 64) มี 2 วาระใหญ่ของประเทศที่ประชาชนต้องจับตาดูความจริงใจของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด คือ การแก้รัฐธรรมนูญยกที่ 2 ซึ่งปรากฎว่าประธานรัฐสภาไม่บรรจุร่างที่พรรคเพื่อไทยเสนอให้แก้ไข ม.256 ตั้ง สสร. เพื่อรื้อกติกาเผด็จการและสร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จึงขอให้ประธานรัฐสภาได้ชี้แจงต่อสมาชิกรัฐสภาและประชาชนถึงเหตุผลการไม่บรรจุร่างด้วย เนื่องจากการยื่นญัตตินี้พรรคเพื่อไทยได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมรัฐสภาทุกประการ ทั้งนี้ หากรัฐบาลมีความจริงใจและเห็นแก่ประโยชน์ประเทศชาติจะต้องร่วมปิดสวิตช์ ส.ว. ที่ทำให้เจตนารมณ์ของประชาชนถูกบิดเบือน ตามที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทยได้เสนอในรายมาตรา นอกจากนี้ อีกหนึ่งประเด็นใหญ่ที่ถูกข่าวการแก้รัฐธรรมนูญกลบไปคือ กรณีที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาผลการศึกษาความตกลง CPTPP ของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และจะมีมติว่าไทยควรเจรจาเข้าร่วมความตกลงดังกล่าวหรือไม่
อย่างไรก็ดี พรรคเพื่อไทยได้เคยเสนอแนะต่อรัฐบาลว่า ก่อนที่จะนำผลการศึกษา CPTPP เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเพื่อเคาะเป็นนโยบาย ขอให้รัฐบาลได้กำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเปิดเผยผลการศึกษาของภาครัฐที่ถูกต้องและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย รวมถึงข้อมูลจากภาคประชาสังคมจากหลากหลายแหล่ง ให้ประชาชนจากทุกภาคส่วนและทุกภูมิภาคทั่วประเทศได้มีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เพราะประชาชนคือผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงต่อความตกลงระหว่างประเทศฉบับนี้ แต่ปรากฎว่าที่ผ่านมา ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบกลับเน้นการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความเห็นกับสื่อมวลชน ซึ่งมีเพียงหน่วยงานภาครัฐ ตัวแทนนักวิชาการเป็นผู้ให้ข้อมูล
“การดำเนินการที่ผ่านมาของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และความตกลง CPTPP มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือความไม่จริงใจของรัฐบาลในการดำเนินการ ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญถูกเตะถ่วงและเบี่ยงเบนประเด็นทั้งๆ ที่เป็นวาระเร่งด่วนของประเทศ ในขณะที่การดำเนินการเกี่ยวกับ CPTPP มีปัญหาเรื่องความโปร่งใส ทำให้ประชาชนแคลงใจในข้อมูลของรัฐบาลมาโดยตลอด หากรัฐบาลมีความจริงใจต่อประชาชนและมั่นใจว่าความตกลง CPTPP มีผลดีมากกว่าผลเสียจริง ก็ขอให้ดำเนินการเปิดเผยผลการศึกษาของ กนศ. ร่วมกับข้อมูลจากภาคประชาสังคมให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ก่อนที่จะมีการตัดสินใจว่าควรจะเข้าร่วมการเจรจาความตกลงนี้หรือไม่ ซึ่งจะทำให้ไทยก้าวอย่างรอบคอบและเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมมากที่สุด” จิราพรกล่าว