ชลน่าน ศรีแก้ว : การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ไม่ใช่หน้าที่ของประธานรัฐสภา

พรรคเพื่อไทย นำโดย น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย , สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรค และ นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี ได้ลุกขึ้นตั้งคำถามสอบถามความชัดเจนจาก ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กรณีที่ไม่บรรจุญัตติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ. …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มเติมหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) เข้าสู่วาระการพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย เรียกร้องให้ประธานรัฐสภา เปิดรับฟังความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้รอบด้านและชี้แจงต่อรัฐสภาให้ชัดเจน ในกรณีคณะที่ปรึกษาประธานรัฐสภา อ้างว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 265 ของพรรคเพื่อไทย อาจเข้าข่ายการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แล้วตีความว่าไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่บรรจุญัตติ โดย ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่ได้ร่วมลงลายมือชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ต้องการให้ประธานรัฐสภาชี้แจงให้ชัดเจนว่ามีเหตุและผลอย่างไรถึงตัดสินใจที่ไม่บรรจุญัตตินี้

ขณะที่ ‘สมพงษ์ อมรวิวัฒน์’ ส.ส. เชียงใหม่ และ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรถึงประธานรัฐสภา ขอให้ทบทวนความเห็นและบรรจุญัตตินี้เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา โดยมีเนื้อหาดังนี้

  1. คณะผู้ร่วมเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับดังกล่าว ไม่เห็นด้วยต่อความเห็นของคณะที่ปรึกษาประธานรัฐสภา
  2. คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว มีการวินิจฉัยต่อไปด้วยว่า “หากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนา รัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อนว่า สมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นพ้องด้วย จึงดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป เมื่อเสร็จแล้วต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง” ซึ่งมิได้ห้ามจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
  3. เมื่อพิจารณาคำวินิจฉัยโดยถ่องแท้ ตั้งแต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยวินิจฉัยไว้ตามคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 และคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ชี้ให้เห็นว่า รัฐสภาใช้บทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ เพียงแต่ให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญลงประชามติเสียก่อนว่าประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
  4. การลงประชามตินั้นจะมีการลงประชามติ 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 คือ ก่อนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และครั้งที่ 2 คือ หลังจากการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว
  5. การเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 ฉบับนี้ เป็นเพียงกระบวนการเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น หากรัฐสภาเห็นชอบและมีการออกเสียงประชามติ ถ้าผลประชามติจากประชาขนเห็นชอบนั้น ก็เป็นเพียงการแก้ไขเพิ่มเติมบทมาตราในรัฐธรรมนูญ 2560 เท่านั้น และ รัฐธรรมนูญ 2560 ยังคงใช้บังคับอยู่มิได้ถูกยกเลิกไป และยังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แต่อย่างใด
  6. หากถือตามผลการวินิจฉัยของท่านประธานรัฐสภาถึงสาเหตุที่ไม่มีการบรรจุญัตตินี้ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าทำได้นั้นจะจัดทำอย่างไร แม้จะมีผลการออกเสียงประชามติ ของประชาชนเห็นชอบด้วยแล้วก็ตาม เพราะการเสนอให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จำกัดให้ต้องเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ช่องทางเดียวเท่านั้น และจะเท่ากับว่าเป็นการห้ามจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสิ้นเชิง
  7. หนังสือของเลขาธิการรัฐสภา ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เท่ากับส่งผลให้การจัดทำรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง

ครั้งที่ 1 เป็นการออกเสียงประชามติ #ว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ โดยผู้ออกเสียงประชามติไม่ทราบเลยว่ากระบวนการในการจัดให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นอย่างไร ใครจะเป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และประชาชนจะมีส่วนร่วมอย่างไร

ครั้งที่ 2 เป็นการออกเสียงประชามติ #หลังรัฐสภาเห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 โดยให้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งในการออกเสียงประชามติครั้งนี้ผู้ออกเสียงประชามติ มีข้อมูลที่สมบูรณ์ว่ากระบวนการในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นอย่างไร

และครั้งที่ 3 เป็นการออกเสียงประชามติหลังจากการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยโดยไร้เหตุผลและผลาญงบประมาณแผ่นดินกว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งมาจากภาษีอากรของประชาชน

นพ.ชลน่าน สรุปว่า การตีความว่าการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 จะเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 นั้นเป็นการตีความเกินคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และที่สำคัญ ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หากมีการบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของรัฐสภา เหตุและผลของสมาชิกรัฐสภาจะถูกบันทึกเพื่อนำไปสู่การพิจารณาต่อชั้นต่อๆ ไป หากรัฐสภาจะลงมติไม่รับหรือไม่รับหลักการก็จะเป็นสารตั้งต้นไปสู่การดำเนินการตามร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งรัฐสภาเพิ่งพิจารณาแล้วเสร็จไปเมื่อ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา

“การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่จะตัดสินใจว่าจะรับหลักการหรือไม่รับ การตัดสินใจไม่ใช่หน้าที่ของประธานรัฐสภา”

สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ประธานรัฐสภาตัดสินใจไม่บรรจุญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของพรรคเพื่อไทย และชี้แจงผ่านหนังสือตอบกลับเพียงสั้นๆ เป็นเอกสารเพียง 1 หน้า และไม่ได้ชี้ทางปฏิบัติที่ชัดเจน ทำให้เกิดข้อสังสัยและต้องหารือกันเพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนและสมบูรณ์ โดยเฉพาะความชัดเจนในเรื่องของสถานะร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ตกไปแล้วหรือไม่ หากยังไม่ตกไปจะต้องดำเนินการต่อไป เพราะพรรคเพื่อไทยได้พิจารณาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้อย่างชัดเจนแล้วจึงได้ยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญมา หากจะต้องทำประชามติสอบถามประชาชน ก็ต้องมีต้นเรื่องไปสู่การทำประชามติ หรือหากประธานรัฐสภาวินิจฉัยให้ร่างนี้ตกไป ก็ต้องหารือกันให้ชัดเจนต่อไปว่าการจะแก้ไขรัฐธรมนูญฉบับนี้เพื่อไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะทำได้อย่างไร หรือคนที่จะทำได้ คือ สมาชิกรัฐสภา เท่านั้น

Categories: Uncategorized