เพื่อไทย ผิดหวัง “วุฒิสภา” ขวางแก้รัฐธรรมนูญ ชี้ ร่างฯ ฉบับพรรค ปชป. ที่ ส.ว.เทคะแนนให้ไม่สมบูรณ์ ส่อสร้างปัญหาใหญ่ แก้ได้แต่บังคับใช้ไม่ได้

ดร.สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน แถลงสรุปผลการลงมติร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมของที่ประชุมรัฐสภา ว่า ประเด็นแรก คือ การลงมตินั้นผ่านเพียงร่างเดียวร่างของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ระบบเลือกตั้งบัตรเป็นแบบบัตรเลือกตั้งสองใบนอกจากนั้นอีก 12 ร่างไม่ผ่าน ซึ่งเราผิดหวังว่าร่างที่ตกไปนั้น เป็นร่างที่เราเคยถกเถียงกันว่าทำเพื่อประชาชน เช่น ร่างเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในกระบวนการยุติธรรม ร่างสาธารณสุข หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ดังนั้น ร่างดีๆ ที่จะเกิดประโยชน์กับประชาชนถูกปัดตกหมด

ประเด็นที่สอง คือ เรื่องระบบบัตรเลือกตั้งสองใบ มีเสนอคล้ายคลึงกันถึง 3 ร่าง ซึ่งมีร่างของพรรคเพื่อไทยและ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แต่กลับไม่ผ่าน ทั้งที่ร่างของพรรคเพื่อไทยนั้นแยกหลักการและวิธีการอย่างชัดเจนในร่างของพรรคเพื่อไทย แต่ ส.ว.กลับไปเลือกร่างของพรรค ปชป.ที่มีแค่สองมาตรา โดยไม่มีรายละเอียด ซึ่งแตกต่างจากร่างของพรรคเพื่อไทยที่ได้แก้ไขทั้งระบบ จึงเกิดคำถามว่า จะไปแก้กันอย่างไรเพราะร่างของพรรค ปชป. ไม่ได้เสนอแก้มาตราอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นร่างที่ไม่สมบูรณ์

ประเด็นสาม คือ เรามีร่างต่อต้านการกระทำรัฐประหาร เขียนไว้ละเอียด ห้ามรับรองการยึดอำนาจและห้ามรับรองผลิตผลของคณะรัฐประหาร สองสามเดือนก่อนเห็นบอกว่าต้องล้มล้างผลพวงรัฐประหาร แต่วันนี้กลับเงียบ จึงเป็นการลงมติที่ผิดหวังและต้องหาคำตอบ
.

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวต่อว่า นอกจาก 13 ร่างที่ผ่านแค่ร่างเดียวกับ อีกร่างที่ 14 คือร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขทั้งฉบับ ซึ่งประธานรัฐสภา ไม่บรรจุไว้ในวาระประชุม แม้จะผ่านแค่ร่างเดียวในชั้นวาระรับหลักการ จะเห็นว่า หลายร่างแม้จะผ่านคะแนนเสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา เสียงจากสภาผู้แทนก็เกินกึ่งหนึ่ง แต่ติดขัดตรง ส.ว. ดังนั้นจึงเห็นชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญฉบับบนี้ ออกแบบมาเพื่อไม่ให้แก้ แก้ไม่ได้

ร่างของพรรค ปชป.ที่รัฐสภาลงมติรับหลักการจะทำให้เกิดปัญหามาก หากมีการแก้ไขแล้วรัฐธรรมนูญมาตราอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งซึ่งไม่ได้แก้ไขไปด้วยจะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างไร จึงคิดว่าเป็นการรับร่างเพื่อรักษาหน้าไปก่อน เพราะแม้ไม่รับร่างของพรรค พปชร. ก็รักษาหน้าด้วยการไปรับร่างของพรรค ปชป. ขายผ้าเอาหน้ารอด ส่วนจะไปแก้กันได้จริงไหม จะบังคับใช้ได้หรือไม่ หรือและจะขัดแย้งกันเองจนนำไปสู่ในการคว่ำในวาระที่ 3 หรือท้ายสุดอาจไปจบกันที่การยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ก็เป็นไปได้หมด
.
ประการ สาม ร่างญัตติ ที่มีสาระดีๆ โดยเฉพาะร่างเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ และการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ เช่นในคณะกรรมาธิการ ซึ่งในรัฐธรรมนูญปี 60 ลดทอนอำนาจมิให้การเรียกบุคคลหรือเอกสารมาให้ข้อมูล ซึ่งจำกัดอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะอ้างว่าขัดต่อ รธน. 60 จึงเห็นว่า ไม่เคยมีฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ หรือข้าราชการมาให้ถ้อยคำความเห็นกับกรรมาธิการเลย

.
พรรคเพื่อไทยปรารถนาสูงสุด ที่จะต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยดังกล่าว แม้จะถูกห้ามแก้ทั้งฉบับ แต่เราจึงยังประกาศสู้ จะแก้ไขรายมาตราต่อไปในโอกาสต่อๆไป