ดราม่า ท.อ. ถึงมือ กมธ.ปปช.แล้ว อนุดิษฐ์ตรวจสอบเอง ลั่นพร้อมทำความจริงให้ปรากฏ
วันอาทิตย์ที่ 27 มิ.ย. 64 น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทยในฐานะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ตนเองได้รับมอบหมายจากคณะกรรมาธิการ ปปช.ให้เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มกองทัพอากาศรักความก้าวหน้าและความถูกต้อง ที่ระบุว่า ขอให้ตรวจสอบผู้มีอำนาจของกองทัพอากาศ กรณีความไม่โปร่งใสในการจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพอากาศ 3 โครงการ มูลค่าเกือบ 3 พันล้านบาท ที่ถูกกล่าวหาว่ามีการดำเนินการผิดระเบียบและขัดต่อกฎหมาย ในลักษณะที่มีการเร่งรีบผิดปกติ และมีการสั่งการให้เปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์และขอบเขตของแต่ละโครงการขึ้นมาใหม่ ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักการจัดหาแบบเดิมที่ผ่านการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ มาเรียบร้อยแล้ว เช่น กระทรวงกลาโหม สำนักงบประมาณ และคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างงบประมาณประจำปี 2564 เป็นต้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงย่อมไม่สามารถกระทำได้ เพราะอาจเข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยในเบื้องต้น ตนเองและคณะทำงานได้ตรวจสอบเอกสารที่แนบมาโดยละเอียด เชื่อได้ว่าเป็นหนังสือราชการของกองทัพอากาศ เพราะมีเลขที่หนังสือและมีลายมือชื่อผู้มีอำนาจของหน่วยงานต่างๆ ลงนามอยู่จริง ส่วนรายละเอียดของหนังสือราชการนั้น ระบุชัดเจนว่ามีผู้มีอำนาจสั่งการให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขวัตถุประสงค์และสาระสำคัญของทั้ง 3 โครงการจริง ซึ่งกรรมาธิการคงต้องตรวจสอบว่าการกระทำเช่นนี้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์แนวทางปฏิบัติที่อนุญาตให้ทำเช่นนี้ได้หรือไม่ หรือกองทัพอากาศเคยดำเนินการในลักษณะนี้มาก่อนหรือเปล่า ซึ่งโครงการจัดหายุทโธปกรณ์ที่สำคัญและมีมูลค่าสูงเช่นนี้ เชื่อว่าผู้มีอำนาจของกองทัพอากาศคงไม่กล้าเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์และสาระสำคัญของโครงการโดยพลการอย่างแน่นอน เพราะหากมีข้อสงสัยย่อมสามารถสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้วินิจฉัย เพื่อความรอบคอบ รัดกุม และตรวจสอบให้มั่นใจว่าได้ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย คณะกรรมาธิการ ปปช.จะได้เรียกผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงเพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงและตรวจสอบรายละเอียดที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับการร้องเรียนต่อไป
น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวถึงการเปิดเผยรายละเอียดของโครงการได้หรือไม่ว่ามีความเป็นมาอย่างไรนั้น ว่าโครงการ 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาและปรับปรุงระบบป้องการทางอากาศ ระยะที่ 7 ( N-SOC C2) โครงการพัฒนาการป้องกันฐานที่ตั้งทางทหารของกองทัพอากาศ (GBAD) และโครงการจัดหาทดแทนวิทยุพื้นดิน-อากาศ มีมูลค่ารวมเกือบ 3 พันล้านบาท ซึ่งโครงการทั้งหมดได้รับอนุมัติจากกระทรวงกลาโหม โดยกองทัพอากาศได้ขออนุมัติหลักการ/โครงการนำร่อง ตามแนวทางการจัดหาพร้อมการพัฒนา (Purchase and Development : P&D) ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาลเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ลำดับที่ 11 (New S-Curve 11) นอกจากนี้ ยังเป็นไปตามแผนพัฒนาของกระทรวงกลาโหม พ.ร.บ.เทคโนโลยีป้องกันประเทศ ยุทธศาสตร์กองทัพอากาศ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2563 และสอดคล้องกับสมุดปกขาวกองทัพอากาศ รวมทั้งได้รับการอนุมัติงบประมาณจากกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ซึ่งการขอแก้ไขขอบเขตความต้องการของโครงการ (SOPR) และ ขอบเขตของงาน (TOR) รวมทั้งกระบวนการในการขอแก้ไขเปลี่ยนแปลง ซึ่งกองทัพอากาศดำเนินการไปแล้วนั้นสามารถกระทำได้หรือไม่ และเป็นการกระทำที่ถูกต้องหรือขัดกฎหมายอย่างไร คงต้องให้เวลากับคณะกรรมาธิการในการทำความจริงให้ปรากฏต่อไป