“เพื่อไทย” ชี้ “ ประยุทธ์” 120 วัน เปิดประเทศ ล้มเหลวตั้งแต่เริ่ม จี้ “ประยุทธ์” เร่งช่วยภาคอุตสาหกรรมและค้าชายแดน แนะ สนับสนุน อุตฯ ส่งออกที่ขยายตัวตามเศรษฐกิจโลกจะเป็นตัวช่วยเศรษฐกิจไทย
นายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ ส.ส. หนองคาย อดีตรองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรม และ คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การระบาดของไวรัสยังคงเพิ่มขึ้นอย่างมาก ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตยังคงเพิ่มขึ้นไม่หยุด โดยเฉพาะใน กทม. และปริมณทล ส่งผลกระทบให้โรงพยาบาลเต็มไม่สามารถจะรองรับผู้ป่วยเพิ่มได้แล้ว โดยเฉพาะห้องผู้ป่วยรุนแรงฉุกเฉินได้เต็มหมดแล้ว ส่งผลให้ระบบสาธารณสุขของไทยอยู่ในขั้นวิกฤตถึงขั้นล้มเหลว ตามที่ นายสาธิต ปิตุเดชะ รมช. สาธารณสุข ต้องออกมายอมรับเอง โดยรัฐบาลต้องมีคำสั่งปิดกิจกรรมทางธุรกิจบางส่วนแล้วเหมือนกึ่งล็อกดาวน์ แต่ไม่กล้าที่จะล็อกดาวน์ทั้งหมดเพราะห่วงว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อยู่แล้วจะทรุดหนักไปใหญ่ ทั้งที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพิ่งจะประกาศเปิดประเทศใน 120 วันเมื่อไม่กี่วันมานี้ แต่กลับต้องมาสั่งหยุดกิจกรรมทางธุรกิจหลายด้าน ซึ่งทำให้ประชาชนหมดหวังและไม่เชื่อว่าพลเอกประยุทธ์จะสามารถเปิดประเทศได้จริงในวันที่ 14 ตุลาคม ตามที่ได้ประกาศไว้ เป็นความล้มเหลวตั้งแต่เพิ่งจะเริ่มต้น ซึ่งเป็นไปตามที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยด้านเศรษฐกิจได้เตือนไว้แต่แรกว่าพลเอกประยุทธ์จะไม่สามารถเปิดประเทศได้ทัน เพราะไม่ได้มีการเตรียมการ แต่พลเอกประยุทธ์กลับส่งคนมาตอบโต้แบบมั่วๆ แต่แล้วก็ต้องประสพความล้มเหลวในระยะเวลาอันสั้น
นอกจากนี้ยังแสดงว่าพลเอกประยุทธ์ไม่ได้มีแผนงานในการที่จะเปิดประเทศอย่างจริงจัง โดยไม่ได้ทำการบ้านและสำรวจสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสเลยก่อนที่จะประกาศ 120 วัน ซึ่งยิ่งตอกย้ำว่าพลเอกประยุทธ์ขาดความรู้ความสามารถและขาดความเข้าใจในสถานการณ์ การที่ประกาศ 120 วัน ก็เพียงเพื่อจะเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชน สร้างความหวังลมๆแล้ง ในสถานการณ์ที่รัฐบาลล้มเหลวทุกด้าน ซึ่งหากพลเอกประยุทธ์ยังเชื่อว่าจะเปิดประเทศได้ใน 120 วันก็ให้พลเอกประยุทธ์รับคำท้าโดยเอาตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเป็นประกัน แต่ถ้ายอมรับว่าทำไม่ได้แล้วก็ต้องออกมาขอโทษประชาชน ที่จะไม่สามารถทำตามสัญญาประชาคมที่ประกาศไว้ได้ให้สมศักดิ์ศรีชายชาติทหารที่กล้าทำกล้ารับ
อย่างไรก็ตาม ในสภาวะที่รัฐบาลล้มเหลวด้านการบริหารจัดการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด และ การจัดการเรื่องวัคซีน ประเทศต่างๆในโลกได้เริ่มก้าวข้ามวิกฤตการณ์ไวรัสกันแล้ว เพราะผู้นำเขาบริหารจัดการเรื่องวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประเทศเขากลับสู่ปกติแล้ว ซึ่งทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้สูงมากขนาดไอเอ็มเอฟยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะโตได้ถึง 6 % ในขณะที่ไทยจะขยายได้เพียง 1.8% เท่านั้น ตามการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยและอาจจะต่ำลงได้อีกถ้สคุมไวรัสไม่อยู่ ดังนั้นการส่งออกของไทยจึงขยายตัวได้ดี โดยเดิอน พฤษภาคมการส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 41.59% ทั้งนี้มาจากการส่งออกในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้วติดลบไปถึง – 22.5% ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนลงทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงอยากให้พลเอกประยุทธ์ได้หันมาสนใจภาคอุตสาหกรรมการส่งออกเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทยได้บ้าง โดยสนับสนุนซอฟท์โลน 0% ให้กับภาคอุตสาหกรรมส่งออกที่ยังมีปัญหา โดยอยากให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ร่วมพิจารณาว่าอุตสาหกรรมใดควรจะได้ซอฟท์โลนบ้างเพื่อให้การส่งออกของไทยเพิ่มปริมาณมากขึ้น ช่วยบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจไทยให้ลดลงได้
นอกจากอุตสาหกรรมส่งออกแล้ว การค้าชายแดน ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการส่งออกจะต้องได้รับการสนับสนุนด้วย เพราะการค้าชายแดน เป็นตัวแปรสำคัญมากๆ อีกหนึ่งจุดที่รัฐบาลจะมองข้ามไม่ได้ โดยพลเอกประยุทธ์จะต้องรีบกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงและรวดเร็วที่สุด ในบริเวณจุดที่มีการเชื่อมต่อกับชายแดน ไม่ว่าจะเป็นที่จังหวัดหนองคายที่มีการค้าเชื่อมต่อกับเมืองหลวงของ สปป. ลาว ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยได้ปีละหลายหมื่นล้านบาทไปจนถึงแม่สอด จุดยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรม ที่สำคัญที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่กำลังเติบโต และยังมีอีกหลายๆจุดรอบๆประเทศ ซึ่งมีตัวเลขทางเศรษฐกิจเป็นแสนล้านบาท วันนี้หากรัฐบาลยังบริหารจัดการวัคซีนล้มเหลวแบบนี้ จะไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างประเทศได้เลย ทั้งนักท่องเที่ยว แรงงาน รวมไปถึง นักลงทุน ที่จะเข้ามาในประเทศไทย
ทั้งนี้ อยากให้พลเอกประยุทธ์ได้รับรู้ว่า ภาคเอกชนเอง หลังจากหมดหวังในการพึงพาภาครัฐในเรื่องวัคซีน ล่าสุด ได้มีวัคซีนทางเลือก ซึ่งภาคเอกชนก็พร้อมที่จะจ่าย เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับค่าวัคซีนแล้ว สิ่งที่ภาคเอกชนจะเสียหาย จากการมีผู้ติดเชื้อในบริษัทนั้น จะเสียหายกว่าหนักกว่า วันนี้ฟันเฟืองทางเศรษฐกิจทุกตัว แทบหยุดเดินกันหมด เศรษฐกิจในประเทศพัง ฟันเฟืองเดียวที่ไทยเหลืออยู่คือภาคการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมส่งออก วันนี้ทำอย่างไรที่จะช่วยประคับประคองให้ผู้ประกอบการทุกๆราย ผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้ โจทย์ที่สำคัญก็คือ เราจะเหลือภาคเอกชนสักกี่ราย หากรัฐยังบริหารล้มเหลวแบบนี้ วันนี้การช่วยเหลือ จำเป็นต้องมองภาพใหญ่ รัฐต้องยอมขาดทุน ธนาคาร ต้องยอมเข้าเนื้อบ้างในเรื่องหนี้เสีย (NPL) ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ ภายใต้วิกฤตการณ์ที่ไม่ปกตินี้ โดยพลเอกประยุทธ์จะต้องศึกษาและหัดมองว่าธุรกิจใดภายใต้สถานการณ์ปกติ ธุรกิจนั้นจะไปได้มั้ย สิ่งที่น่ากลัวก็คือ หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป เศรษฐกิจไทยจะเสียหายหนักจนไม่สามารถแม้แต่จะกลับมาอยู่ที่จุดเดิมได้ ถึงแม้ว่าวันนั้นสถานการณ์ไวรัสโควิดจะเริ่มดีขึ้นแล้วก็ตาม
ในวิกฤตการณ์ที่ทำท่าจะย่ำแย่ลงเรื่อยๆ พลเอกประยุทธ์จะต้องมีวิจารณญาณในการแยกแยะเรื่องต่างๆได้ เรื่องที่ล้มเหลวก็ต้องพยายามแก้ไขไป ในขณะที่เรื่องที่พอจะไปได้ก็ต้องพยายามเร่งส่งเสริม ถ้าพลเอกประยุทธ์ยังคิดได้ทีละเรื่อง คิดแต่จะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยไม่มองไปข้างหน้า พลเอกประยุทธ์ก็จะมีแต่ความล้มเหลวทับซ้อนความล้มเหลว ซึ่งจะพาให้คนทั้งประเทศล้มเหลวตามพลเอกประยุทธ์ไปด้วย ทั้งที่ไม่ใช่เป็นความผิดของพวกเขา แต่เป็นความผิดของผู้นำที่พิสูจน์แล้วว่าไร้ความสามารถและขาดความรู้นำพาประเทศเสื่อมถอยสู่ความล้มเหลว