120 วันเปิดประเทศไม่ได้จริง! “จักรพล” ชี้ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ฟางเส้นสุดท้าย วัดท่องเที่ยวไทย รอด-ไม่รอด เรียกร้องรัฐบาล เร่งพยุงเศรษฐกิจ ซอฟท์โลน ผู้ประกอบการตัวจริง
นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ รองเลขาธิการคณะทำงานด้านเศรษฐกิจและประธานอนุกรรมการนโยบายด้านการท่องเที่ยวพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงแนวโน้มและโอกาสที่จะมีการเปิดประเทศใน 120 วัน ว่านายกรัฐมนตรี ได้เปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เพื่อทดสอบความพร้อมที่จะนำไปสู่การเปิดประเทศในอีก 120 วันข้างหน้าตามที่ได้ประกาศเอาไว้ แต่หลายฝ่ายก็ยังกังวลว่า โครงการนี้เหมือนฟางเส้นสุดท้าย เป็นลมหายใจสุดท้ายที่จะเยียวยาภูเก็ตและธุรกิจท่องเที่ยวของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดว่าจะไปในทิศทางใด
โดยต้องพิจารณาดังนี้ ประการแรกคือฝั่งนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะต้องมีใบรับรองทางการแพทย์ ยืนยันว่าได้ตรวจเชื้อโควิด-19 มีหนังสือรับรอง COE (Certificate of Entry) จากสถานทูตไทย มีกรมธรรม์ ครอบคลุมค่าใช้จ่ายดูแลสุขภาพรวมถึงการรักษาโรคโควิดมูลค่า 1 แสนดอลล่าร์สหรัฐ มีหลักฐานการฉีดวัคซีนครบเกณฑ์ตลอดจนถึงต้องพักอยู่อาศัยในจังหวัดภูเก็ตไม่น้อยกว่า 14 วันและต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 RT-PCR ซ้ำถึงสองครั้งต้องกักตัวระหว่างรอผลตรวจรวมถึงต้องจ่ายค่าตรวจเองสองครั้งเกือบ 8 พันบาท ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้แสดงถึงความเข้มงวดที่ดี แต่อาจทำให้นักท่องเที่ยวไม่เดินทางมา ทั้งความมั่นใจในด้านความพร้อมในไทยเอง
ที่สำคัญ คือ สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศกำลังแย่ลง ผู้ติดเชื้อวันนี้ 6 พันคน เสียชีวิตพุ่งมากกว่า 60 คน ต่างชาติประกาศให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่สีแดง เพราะมีเหตุระบาดรุนแรง บางสายการบินได้ประกาศยกเลิกเที่ยวบินมายังภูเก็ตทันที ส่งผลให้ยอดจองตั๋วโดยสารลดลง 30 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นถ้าจะเดินหน้าอย่างมั่นใจ ต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าจะไม่เกิดการแพร่ระบาดโควิดเป็นวงกว้าง
“ถ้าการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์นี้ คือเทียนแห่งความหวังเล่มแรกของการท่องเที่ยว ที่จะกระจายเปิดไปยังจังหวัดใกล้เคียงและจังหวัดท่องเที่ยวหลัก อย่าง เชียงใหม่ ในไตรมาสที่สี่ ถ้าภูเก็ตแซนด์บ็อก มีปัญหานั่นหมายถึงการท่องเที่ยวไทยปีนี้อาจถึงทางตัน”
นอกจากนี้ สิ่งที่จำเป็นและรัฐบาลต้องทำอย่างเร่งด่วน เพื่อพยุงระบบเศรษฐกิจประเทศ คือจะต้องกลับมาพิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและย่อม หรือเอสเอ็มอี ด้วยมาตรการเงินกู้ดอกเบี้ย 0% หรือซอฟท์โลน กับผู้ประกอบการตัวจริงได้เข้าถึงเงินทุนอย่างทั่วถึงและชัดเจน ซึ่งรัฐบาลสามารถร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย ปล่อยสินเชื่อโดยรัฐบาลสนับสนุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อสนับสนุนการอยู่รอดของธุรกิจและจะผันกลับมาเป็นรายได้ของประเทศในอนาคต เพิ่มการจ้างงานเกิดดอกผลงอกเงยมากกว่าการไปแจกเงิน ///