“นพดล” สลดใจกับการเสียชีวิต รอเตียง รอตรวจของพี่น้องคนไทยจากโควิด ตั้งคำถามถึงรัฐบาล ว่าทำไมไม่เร่งแก้ปัญหาที่สำคัญให้สำเร็จ ทั้งๆที่ทุกฝ่ายเรียกร้องต่อเนื่อง

นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะคนไทยที่สลดใจอย่างสุดซึ้งจากการเสียชีวิตและชะตากรรมของพี่น้องร่วมชาติ ครอบครัวพลัดพรากโดยไม่ได้ร่ำลา ความเจ็บป่วยทุกข์ระทม ความยากแค้นแสนสาหัสจากการตกงานและปิดกิจการ ที่เป็นผลจากการติดเชื้อโควิด ในยามที่คนจำนวนมากที่สุด ต้องรับผลจากการบริหารงานของรัฐบาล ตนไม่แน่ใจว่าผู้รับผิดชอบได้ยินเสียงของประชาชนผู้ทุกข์ยากแสนสาหัสและเสียงเรียกร้องจากทุกภาคส่วนในการแก้วิกฤตหรือไม่ ถ้าได้ยิน ทำไมรัฐบาลไม่เร่งแก้วิกฤตให้สำเร็จเร็วกว่านี้ เช่น

  1. ทั้งๆ ที่รู้ว่ารู้ผลตรวจเร็วลดการกระจายเชื้อและรักษาเร็วยิ่งดี ทำไมไม่ทุ่มเททรัพยากรเพื่อเพิ่มการตรวจเชื้อให้เร็วและมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งอุปกรณ์การตรวจ ทั้งบุคลากร ทั้งสถานที่ ทำไมต้องให้พี่น้องไปกางเต้นท์นอนค้างคืนเพียงเพื่อไปตรวจโควิด ทำไมไม่เพิ่มให้ตรวจที่บ้านได้
  2. ทำไมยังมีคนตายจากการรอเตียงเพื่อรักษา หลายรายตายก่อนได้เตียง จะให้ปัญหานี้คงอยู่นานแค่ไหน
  3. ทุกคนรู้ว่าวัคซีนคือทางออก แต่รัฐบาลระดมสรรพกำลังในการหาวัคซีนคุณภาพมาให้คนไทยพอเพียงแล้วหรือ วัคซีนทางเลือกควรเร่งเซ็นสัญญาเร็วกว่าต้นเดือนสิงหาคมไหม และควรเร่งเจรจากับผู้ขายขอให้ช่วยส่งมอบวัคซีน mRNA ให้ได้อย่างน้อยบางส่วนก่อนไตรมาส 4 ได้ไหม ผู้มีอำนาจในรัฐบาลได้ใช้ความพยายามแล้วหรือไม่ หรือควรส่งคนระดับรัฐมนตรีไปเจรจาหรือไม่ รัฐบาลต้องคิดว่าวัคซีน mRNA จากไฟเซอร์ 20 ล้านโดสพอหรือไม่
  4. การเยียวยาทำไมไม่ทำให้รวดเร็วกว่านี้ คิดเรื่อง ล็อกดาวน์แล้วทำไมไม่คิดเรื่องเยียวยาพร้อมกันไปเลย เยียวยาให้คนจนมีเงินยาใส้ต้องเร็วกว่านี้
  5. ปรับวัฒนธรรมในการทำงานใหม่ได้แล้ว เลิกแก้ตัวแต่เร่งแก้ไข สื่อสารให้ตรงประเด็น เช่นคนเขาอยากรู้ว่าจะได้ฉีดวัคซีนเร็วที่สุดเมื่อไหร่ ไม่ใช่มาบอกว่าปีหน้าจะได้วัคซีนตามเป้า 150 ล้านโดส ลดปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารหรือไอโอ ควรสื่อสารด้วยความจริงและสลดในความทุกข์ของเพื่อนร่วมชาติ

    ” รัฐบาลบอกยินดีรับฟังข้อเสนอ แต่ไม่รู้ฟังแล้วได้ยินและไปปรับปรุงการทำงานหรือไม่ ปัญหาที่เผชิญอยู่เป็นเรื่องยาก แต่แก้ได้ด้วยหู หัวใจและสมอง คือฟัง มีเมตตา และความสามารถจะแก้ได้ ไทยมีแพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ที่เสียสละทุ่มเทในการดูแลคนไข้ ซึ่งเราเป็นหนี้บุญคุณท่านเหล่านั้น จึงขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจและรัฐบาลเพิ่มความพยายาม ความสามารถ และประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา การทำให้คนไม่ป่วยไม่ตายมีค่ากว่าการไม่รับเงินเดือน 3 เดือนมากนัก ต้องกู้วิกฤตโควิด และวิกฤตเศรษฐกิจให้ได้”