เรียนออนไลน์กระทบหนัก ครู-นักเรียนไม่ทน ร้อง กมธ.การศึกษาเพื่อไทย หวั่นการศึกษาไทยเสื่อมถอย

นายวันนิวัติ สมบูรณ์ ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย กรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร และนางสาวอรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ที่ปรึกษากรรมาธิการการศึกษา รับหนังสือร้องเรียนจากนายจิราวุฒิ จิตจักร ในฐานะตัวแทนเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการเรียนออนไลน์ ซึ่งประกอบด้วยครู นักเรียน และผู้ปกครอง ที่ได้ร่วมกันเข้าชื่อในแคมเปญ #จัดอุปกรณ์พร้อมอินเทอร์เน็ตคุณภาพให้กับครูและนักเรียนไทย ผ่านเว็บไซค์ change.org รวม 4,855 คน ขอให้ กมธ. การศึกษา เรียกนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าชี้แจงและดำเนินการแก้ไขความเดือดร้อนของครู นักเรียน และผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากนโยบายการเรียนออนไลน์ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิค-19 ได้แก่

(1) ขาดแคลนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต มือถือ โดยเฉพาะกลุ่มครูบรรจุใหม่หรือครูอัตราจ้าง และกลุ่มผู้ปกครอง ที่บางรายมีรายได้น้อย ถูกตัดลดเงินเดือน และถูกเลิกจ้าง ทำให้ไม่สามารถจัดซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต มือถือ ให้บุตรหลานใช้ในการเรียนออนไลน์อย่างเหมาะสมได้
(2) ภาระค่าใช้จ่ายสัญณาณอินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพ
(3) การติดตามประเมินผลเยี่ยมเยียนนักเรียนจากการเรียนออนไลน์ กลายนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่ครูต้องแบกรับเอง ทั้งค่าพาหนะ และค่าเชื้อเพลิง

สถานการณ์นี้เกิดขึ้นมาแล้วอย่างน้อย 2 ภาคการศึกษา แต่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ความบอบช้ำและภาระที่เกิดขึ้น ตกอยู่กับครูและผู้ปกครองกลุ่มเปราะบางสายป่านสั้นซึ่งเป็นกลุ่มส่วนใหญ่ ไม่อาจรับผลกระทบอีกต่อไปได้ นักเรียนจำนวนมากถูกทิ้งไว้ข้างหลังเนื่องจากภาระการเรียนที่หนักขึ้น แต่ผลลัพธ์ในเชิงของการเรียนรู้บกพร่องลง

นายวันนิวัติ กล่าวว่า หลังจากได้รับหนังสือร้องเรียนแล้วจะนำไปหารือร่วมกับนายนพคุณ รัฐผไท ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา เพื่อเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงถึงแผนการจัดการเรียนการสอนตลอดช่วง 1 ปี 6 เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ในระลอกแรกจนถึงปัจจุบัน แม้ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยได้นำเสนอแนวคิดวิธีการแก้ไขปัญหาด้านการศึกษามาโดยตลอดแต่ไร้ผล รัฐบาลยังหูทวนลม ไม่ยอมรับฟังนำข้อเสนอไปปรับใช้ และในช่วงนี้ยังมีแนวโน้มที่จะล็อกดาวน์อีกครั้งแต่กระทรวงศึกษายังนิ่งเฉย ยิ่งซ้ำเติมให้เด็กเกิดความเครียด เนื่องจากผลการเรียนเสื่อมถอยลง และยังกระทบกับมุมมองต่อสภาพแวดล้อมของเด็ก จนผลเสียในมิติต่างๆ เริ่มกัดกร่อนเข้าไปในจิตใจของเด็กตามไปด้วย เช่น การไม่ได้พบปะเพื่อนๆ เป็นเวลานาน ไม่ได้พูดคุยปรึกษาหารือกับครู ไม่ได้แสดงออกในกิจกรรมที่ชื่นชอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นในพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็ก ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบให้เกิดจุดเปลี่ยนในชีวิตของเด็กในอนาคตได้

นางสาวอรุณี กล่าวว่า การฆ่าตัวตายของเด็กนักเรียน ม.4 เนื่องจากความเครียดจากการเรียนออนไลน์ กระทรวงศึกษาธิการจะต้องมีคำตอบกับเรื่องนี้และจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดเหตุที่น่าเศร้าเสียใจแบบนี้อีก วิกฤตการเรียนเป็นสิ่งสำคัญต้องเร่งแก้ไข ผู้ที่เกี่ยวข้องในส่วนของนโยบายหาทางออกโดยด่วน เพราะกังวลว่าการระบาดของโควิด-19 จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการศึกษา รัฐบาลควรตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อฟื้นฟูการเรียนที่หายไปจากการบริหารโควิดผิดพลาดของรัฐบาลด้วย