“เพื่อไทย” จี้ “ประยุทธ์” รับฟังเสียงประชาชน และ ภาคธุรกิจ ชี้ บริหารจากทำเนียบ โดยขาดความรู้ความสามารถ ขาดประสบการณ์ จะยิ่งล้มเหลว แนะ อย่าซ้ำเติมธุรกิจ จัดลำดับความสำคัญ เร่งกระจายฉีดวัคซีนในจุดที่สร้างรายได้

นายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ ส.ส. หนองคาย อดีตรองเลขาธิการสภาอุตสาหรรมแห่งประเทศไทย และคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สื่อหลักญี่ปุ่น นิเคอิ เอเชีย ได้ปรับลดอันดับประเทศไทยลงจากอันดับ 118 มาอยู่ที่อันดับ 119 จาก 120 อันดับของประเทศที่ฟื้นตัวช้าสุดหลังวิกฤตโควิด ซึ่งอยู่เหนือเพียงประเทศนามิเบียและประเทศแอฟริกาใต้ที่อยู่อันดับ 120 เท่ากันเท่านั้น แสดงว่าไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่จะฟื้นตัวจากโควิดช้าที่สุดในโลก สอดคล้องกับที่ ธนาคารโลกประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้เพียง 1.2% และ ปีหน้าจะขยายได้เพียง 2.1% ซึ่งเท่ากับ ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่ลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือขยายตัวได้เพียง 1.2% เช่นกัน ในขณะที่ ศูนย์วิจัย Krungthai Compass ประเมินเศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวที่ 0.8 -1.6% และอาจติดลบได้ถ้าการระบาดยังยืดเยื้อ ส่วนศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทย ประเมินที่ 1.0% ซึ่งเป็นการปรับลดลงกันลงมาหมดจากการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาล โดย นพ. นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ออกมาขอโทษและยอมรับผิดที่จัดหาวัคซีนผิดพลาดและไม่ทัน และกำลังพิจารณานำไทยเข้าร่วม COVAX แต่คำถามคือจะเอาคนระดับแค่ผู้อำนวยการมาเป็นแพะรับบาป เพื่อรับผิดชอบแทน นายกรัฐมนตรี และ รมว. สาธารณสุขที่รับปากเรื่องวัคซีนเป็นมั่นเหมาะก่อนหน้านี้จะได้หรือ ซึ่งยิ่งเป็นการตอกย้ำความล้มเหลวของพลเอกประยุทธ์ ได้ชัดเจนมากขึ้น

ที่น่าห่วงคือสถานการณ์จะยิ่งย่ำแย่ลงไปเรื่อยๆ การระบาดของไวรัสโควิดก็จะยิ่งรุนแรงขึ้น เศรษฐกิจก็จะยิ่งทรุดหนักลง โดยไม่มีวี่แววว่าจะหาทางแก้ไขได้อย่างไร ทุกวันนี้ ทุกอย่างเหมือนกับจะปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม มีคนไทยนอนตายคาถนนถึง 4 รายภายในวันเดียว และห่วงว่าอาจจะมีเพิ่มขึ้นอีก สาเหตุจากการทำงานและวางแผนที่ผิดพลาดของพลเอกประยุทธ์ ถึงเวลาแล้วที่พลเอกประยุทธ์ จำเป็นจะต้องกลับมาทบทวนความผิดพลาดในการทำงาน ต้องศึกษาข้อมูลให้ชัดเจน จะมัวแต่คิดเองเออเองโดยไม่ลงไปสัมผัสปัญหาที่แท้จริงไม่ได้ เพราะจะทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่และแต่ละภาคส่วนได้ โดยเฉพาะพลเอกประยุทธ์ เองขาดความรู้ความสามารถทางเศรษฐกิจและขาดประสพการณ์ยิ่งต้องลงพื้นที่ให้มากขึ้นเพื่อรับรู้ข้อมูลเพื่อนำมาปรึกษาผู้รู้จริงเพื่อแก้ปัญหา

สิ่งสำคัญและจำเป็นที่สุดในตอนนี้คือ พลเอกประยุทธ์ต้องหัดรับฟังเสียงของประชาชนและต้องฟังเสียงเรียกร้องจากภาคธุรกิจ รวมถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์และข้อเสนอแนะ ซึ่งเมื่อฟังแล้วก็ต้องนำไปพิจารณาแก้ไข เพราะคนที่ลำบากที่สุดในขณะนี้คือ ประชาชน และภาคธุรกิจ ที่ต้องทนแบกภาระมากว่าปีแล้ว โครงการและนโยบายต่างๆ น่าจะต้องเป็นการช่วยเหลือและสนับสนุนให้ธุรกิจอยู่รอด ไม่ใช่ไปซ้ำเติมหรือไปเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ ยกตัวอย่างเช่น ในขณะนี้ในโครงการ คนละครึ่ง รัฐกลับใช้โครงการนี้เป็นฐานข้อมูลในการเรียกเก็บภาษีกับร้านค้า ซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกที่ถูกเวลา หากเป็นสถานการณ์ปกติ ในช่วงที่ผู้ประกอบการมีกำไร การเรียกเก็บภาษีถือเป็นเรื่องปกติที่ทำได้ แต่ในภาวะวิกฤตขณะนี้ การเรียกเก็บภาษีย้อนหลังกับร้านค้าที่เข้าโครงการคนละครึ่ง กลับเป็นเหมือนการซ้ำเติมผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่แบกปัญหากันหนักมากอยู่แล้ว ซึ่งไม่รู้ว่ารัฐบาลใช้อะไรคิด ถึงได้ซ้ำเติมผู้ประกอบการแบบนี้ในภาวะเช่นนี้ นอกจากนี้ยังอยากขอให้พลเอกประยุทธ์ได้พิจารณาเปิดให้ประชาชนสั่งซื้อร้านอาหารในห้างได้โดยมีจุดรับส่ง เพื่อนำกลับบ้านเพื่อช่วยทั้งประชาชนให้มีทางเลือกในการซื้ออาหาร และร้านอาหารสามารถประคองตัวได้เพราะไม่แน่ใจว่าจะมีการล็อกดาวน์นี้อีกนานขนาดไหน

โดยในวันนี้ ภาคเอกชน โดย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย เตรียมยื่น 4 ข้อเสนอถึงพลเอกประยุทธ์ ในการช่วยเหลือ SMEs ให้อยู่รอดซึ่งหากเป็นผู้นำที่เข้าใจเศรษฐกิจและมีความรู้ในภาคธุรกิจจริงๆ ก็ควรจะรับพิจารณาเพื่อดำเนินการ และอาจจะช่วยเหลือเพิ่มมากกว่า 4 ข้อ ที่เสนอมาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจ ที่กำลังต่อสู้ดิ้นรนให้อยู่รอดในภาวะวิกฤตนี้

ในภาวะเช่นนี้ ทุกธุรกิจประสบปัญหากันหมด พลเอกประยุทธ์ จะต้องศึกษา และจัดลำดับความสำคัญ และหาทางแก้ไขให้เข้ากับพื้นที่ยกตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการขนส่งชายแดน ที่จำเป็นต้องส่งสินค้าข้ามแดน มีปัญหาเรื่องที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน และต้องตรวจไวรัสโควิดทุกครั้ง ค่าใช้จ่ายในการตรวจแต่ละครั้งประมาณ 3,000 บาท ถ้าต้องขน 10 คัน ก็ต้องจ่าย 30,000 บาท และการตรวจแต่ละครั้งใช้ได้แค่ 7 วันเท่านั้น และการขนส่งสามารถทำได้แค่ 1 รอบเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มต้นทุนที่สูงมาก ดังนั้นอยากให้รัฐบาลพิจารณาขยายเวลาเป็น 14 วันได้หรือไม่ เพื่อช่วยธุรกิจที่ยังพอทำมาค้าขายได้ และช่วยสนับสนุนให้ประชาชนในบริเวณจังหวัดชายแดนได้รับการฉีดวัคซีนให้ครบ เพราะธุรกิจเหล่านี้ ยังสามารถสร้างรายได้ และเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจของไทยได้

นอกจากนี้ ในปัจจุบัน เงินดอลล่าร์สหรัฐ และเงินบาทไทย ขาดแคลนอย่างมากในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นปัญหาอย่างมากในการซื้อขายสินค้าเพื่อการส่งออก ทั้งนี้เพราะการค้าขายชายแดนระหว่างไทยและลาวลดลงอย่างมากในช่วงวิกฤตไวรัสโควิดนี้ อีกทั้งเมื่อไม่นานมานี้ประเทศไทยได้เริ่มทำ Sandbox ในแต่ล่ะจุดแล้วไม่ว่าจะเป็นที่จังหวัดภูเก็ตหรือที่เกาะสมุย ด้งนั้นจึงควรพิจารณาทำ Sandbox ในจังหวัดชายแดนต่างๆ ด้วย ตามความพร้อม ก็น่าจะเป็นไปได้ โดยน่าจะอนุญาตให้ประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว สามารถเดินทางข้ามประเทศเข้ามาได้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยพิจารณาในแต่ละจังหวัดที่กับติดชายแดนและมีการค้าขายกันมาก ทั้งนี้พลเอกประยุทธ์ อาจจะไม่ทราบว่าคนลาวเข้ามาจับจ่ายใช้สอยในจังหวัดหนองคายกันอย่างมาก จนยอดขายในห้างสรรพสินค้าและในห้างโมเดิร์นเทรดที่หนองคายมียอดขายติดอันดับของประเทศไทย การเปิดแซนด์บอกซ์ที่หนองคายจะช่วยส่งเสริมธุรกิจและเพิ่มการค้าขายได้อย่างมาก

ในภาวะวิกฤตโควิด พลเอกประยุทธ์ จะต้องศึกษาหาทางดูแลให้เศรษฐกิจสามารถดำเนินไปได้ด้วย ถึงเวลาแล้วที่ผู้นำจะต้องออกจากทำเนียบและออกจากบ้าน แล้วมาทำความเข้าใจและเข้าถึงปัญหาของประชาชนและปัญหาของภาคธุรกิจในแต่ละพื้นที่และในแต่ละภาคส่วน ก่อนที่ปัญหาเศรษฐกิจจะยิ่งบานปลายไปมากกว่านี้

ทั้งนี้ จังหวัดหนองคาย เป็นจังหวัดชายแดนที่มีการค้าขายมากกับประเทศเพื่อนบ้าน เศรษฐกิจของหนองคาย จึงขึ้นกับกำลังซื้อจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่ตัวเลขผู้ได้รับวัคซีนอ้างอิงตาม หมอพร้อม จังหวัดหนองคายมีประชาชนที่ได้รับการฉีดวัคซีนในวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 จำนวน 750 ราย รวมแล้วมีประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนสะสมทั้งหมด 96,392 ราย คิดเป็น 15.37% เท่านั้น ในขณะที่ในกรุงเวียงจันทร์มีประชากรลาวที่ได้รับการฉีดวัคซีนในสัดส่วนที่มาก อีกทั้งยังได้รับการฉีดวัคซีน mRNA เช่น ไฟเซอร์ ที่มีคุณภาพดีกว่าวัคซีนที่ไทยใช้ ดังนั้นแล้วไทยจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างไร

ในการฟื้นเศรษฐกิจในช่วงวิกฤติการณ์ไวรัสโควิด ผู้นำจะต้องมีความรู้ความสามารถและจะต้องมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจ สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรควรทำก่อนและหลัง อะไรที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศ หากผู้นำขาดทักษะในเรื่องนี้เศรษฐกิจไทยคงจะฟื้นได้ยาก และพลเอกประยุทธ์ น่าจะรู้ดีถึงข้อจำกัดของตัวเองในเรื่องนี้ และไม่ควรจะดื้อรั้นอีกต่อไป ซึ่งจะสร้างปัญหาให้ประเทศมากยิ่งขึ้น