“เพื่อไทย” แนะ สธ.จัดระบบการประเมินอาการผู้ติดเชื้อโควิดและการส่งต่อผู้ติดเชื้อให้ชัดเจนกว่านี้ หลังพบผู้ติดเชื้อสีเขียวได้เตียง แต่ผู้ติดเชื้อสีเหลืองและสีแดงกักตัวเสียชีวิตตามบ้าน
นายวิชาญ มีนชัยนันท์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และประธานภาคกรุงเทพฯ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงระบบประเมินระดับผู้ติดเชื้อและการส่งต่อมีปัญหา หลังพบผู้ป่วยสีเขียวได้เตียง แต่ผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงกลับต้องนอนกักตัวอยู่บ้านจนอาการวิกฤต รวมถึงผู้ติดเชื้อที่เข้าสู่ระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดที่บ้าน (Home Isolation) กว่าเจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับมาเป็นสัปดาห์ โดยนายวิชาญ เปิดเผยว่าภายหลังการประเมินและติดตามผลการนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการดูแล โดยเฉพาะกลุ่มผู้ติดเชื้อสีเขียว ที่ยังไม่มีอาการรุนแรง โดยสมัครใจเข้าสู่ระบบการดูแลผู้ติดเชื้อที่บ้านและกักตัวในชุมชน ตามโครงการของ สปสช.ร่วมกับคลินิกชุมชนอบอุ่นแล้ว พบว่าประชาชนมีปัญหาการเข้าสู่ระบบโดยเฉพาะการติดต่อผ่านสายด่วน สปสช.1330 พบว่ามีการรอสายโทรศัพท์นานมาก ต้องโทรหลายครั้งกว่าจะติด และเมื่อมีผู้ติดเชื้อสามารถลงทะเบียนได้ ก็ไม่ได้รับการติดต่อกลับจากเจ้าหน้าที่ ส่วนเรื่องการตรวจดูแลและรับยาเวชภัณฑ์ ฟ้าทะลายโจรหรือเครื่องวัดออกซิเจน กว่าจะส่งมาได้จริงก็ใช้เวลานานกว่า 7 วันทำให้ผู้ติดเชื้อที่กักตัวอยู่กับบ้านในระดับสีเขียว เลื่อนระดับความรุนแรงขึ้นไปเป็นระดับสีเหลืองและสีแดงโดยไม่ได้รับการดูแล
นายวิชาญ กล่าวต่อว่าวันนี้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบการรักษาวนกลับมาอีก ผู้ติดเชื้อระดับสีเขียวที่สามารถเข้าถึงระบบความช่วยเหลือ ได้รับการส่งต่อเข้าโรงพยาบาลสนาม แต่ผู้ป่วยสีเขียวเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและสีแดงที่เข้าไม่ถึงระบบการรักษาไม่ว่าจะผ่านสายด่วนหรือแอปพลิเคชั่นต่างๆ กลับตกค้างอยู่ตามบ้าน จนกลายเป็นว่าเราพบผู้ติดเชื้ออาการวิกฤตจนกระทั่งเสียชีวิตในบ้าน ซึ่งผู้ป่วยระดับนี้ต่างหากควรได้เข้าสู่ระบบการรักษา จึงเห็นว่าควรแก้ไขระบบการประเมินอาการและการส่งต่อผู้ป่วยกับทุกหน่วยงานให้ชัดเจน ต่อจากนี้ ผู้ป่วยระดับสีเขียวควรขอให้เข้าสู่ระบบการกักตัวดูแลอยู่บ้านหรือในชุมชน และควรให้โรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยในระดับสีเหลืองขึ้นไปและส่งต่อไปยังโรงพยาบาลต่อได้ในกรณีเป็นผู้ป่วยวิกฤตสีแดง ถ้าไม่ทำความเข้าใจระบบให้ชัดเจน ต่างคนต่างพยายามส่งต่อผู้ป่วยของตนเองเข้าระบบให้ได้ จะกลายเป็นเราจะไม่มีเตียงเหลือเพียงพอให้ผู้ป่วยวิกฤตที่ต้องการเตียงจริงๆ เลย นอกจากนี้กรณีผู้ติดเชื้อที่เป็นเด็กทารก เด็กเล็ก ผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงทั้ง 7 กลุ่ม เป็นกลุ่มที่ต้องอาศัยการพยาบาลและดูแลพิเศษแตกต่างจากผู้ป่วยปกติอื่น จึงควรมีโรงพยาบาลหรือหน่วยงานเฉพาะทางที่เชี่ยวชาญในการดูแลกลุ่มดังกล่าว เข้ามาช่วยจัดระบบและดูแลกลุ่มเหล่านี้ให้ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
“รัฐควรดำเนินการแก้ไขระบบการประเมินอาการผู้ติดเชื้อและการส่งต่อผู้ติดเชื้อไปโรงพยาบาลให้เป็นระบบและรวดเร็วกว่านี้ ควรบูรณาการทุกหน่วยงานที่รับผู้ติดเชื้อเบื้องต้นเข้าสู่ระบบเดียวกัน นาทีนี้ ผู้ติดเชื้อระดับสีเขียวควรต้องอยู่กักตัวในบ้านหรือชุมชน และส่งชุดตรวจเวชภัณฑ์ให้เขาได้ทันทีภายใน 3 วัน เพราะระดับความรุนแรงของเชื้อไปเร็วมาก ส่วนคนติดเชื้อระดับอาการสีเหลืองสีแดงควรส่งต่อเข้าโรงพยาบาลไม่ใช่นอนกักตัวอยู่บ้านจนกลายเป็นผู้ป่วยวิกฤตเต็มบ้านไปหมด ถ้ารัฐไม่จัดระบบใหม่ให้ชัดเจนคนติดเชื้อจะล้นและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นจนควบคุมไม่ได้” นายวิชาญกล่าว