“ชูศักดิ์” แนะรัฐควรตั้งกองทุน เยียวยาผู้เสียชีวิตจากโควิด แทนการออก กม.นิรโทษกรรม ไม่ใช่ปล่อยให้คนตายรายวันโดยไม่รับผิดชอบอะไร

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และประธานคณะทำงานด้านกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงแนวคิดในการออก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุข ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) พ.ศ…. ว่า ตนเองยังไม่เห็นสาระสำคัญของร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าว แต่จากการรับฟังคำแถลงของกระทรวงสาธารณสุข และในสื่อสังคมออนไลน์เห็นว่า แม้การออก พ.ร.ก. จะเป็นอำนาจของ ครม. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 แต่ก็ต้องดูว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้และเป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้หรือไม่ กล่าวคือเป็นไปเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะหรือไม่ ส่วนเนื้อหาของ พ.ร.ก. จะมีหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการจำกัดความรับผิดของบุคลากรด้านสาธารณสุข แค่ไหน เพียงไรนั้น คงต้องรอดูก่อน แต่โดยส่วนตัวเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออก พ.ร.ก.ฉบับนี้เพื่อนิรโทษกรรม ให้แก่บุคคลใด เนื่องจากตามหลักวิชาชีพของแพทย์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยแพทย์ทุกคนก็ใช้ความรู้ความระมัดระวังในการรักษาผู้ป่วยอย่างเต็มที่อยู่แล้ว ไม่มีแพทย์คนไหนที่มีเจตนาจะให้ผู้ป่วยตาย ส่วนความรับผิดฐานประมาทนั้น เมื่อพฤติการณ์เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า มีผู้ป่วยจำนวนมากโอกาสในการสูญเสียย่อมเกิดขึ้นได้ แม้แพทย์จะรักษาอย่างสุดความสามารถแล้วก็ตาม แพทย์เอง ก็มีข้ออ้างได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว ในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยทั่วไปก็มีหลักกฎหมายที่ใช้กันอยู่แล้วว่าแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จะรับผิดก็ต่อเมื่อเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้นอีกทั้งการรักษาพยาบาลผู้ป่วยถือหลักความยินยอมของผู้ป่วยหรือญาติของผู้ป่วยด้วย จึงไม่มีเหตุที่ต้องไปกลัวว่าจะมีคนไปฟ้องร้องแพทย์ตามที่มีการแถลงข่าว

นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่สังคมเป็นห่วงขณะนี้คือการเสนอ พ.ร.ก.จะนำบุคลากรทางการแพทย์เป็นข้ออ้างเพื่อนิรโทษกรรมให้กับผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการจัดซื้อวัคซีนและในการกระจายวัคซีนหรือการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ด้วย ซึ่งได้แก่ฝ่ายการเมือง และบุคคลที่ฝ่ายการเมืองแต่งตั้งให้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ตนจึงไม่เห็นถึงความจำเป็นถึงขนาดที่จะออกเป็น พ.ร.ก. สิ่งสำคัญที่รัฐบาลควรพิจารณาคือจะทำอย่างไรในการจะชดเชยความเสียหายให้กับผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ทั้งจากที่อยู่ในระบบการรักษาพยาบาลแล้ว และผู้เสียชีวิตที่ยังไม่เข้าสู่ระบบการรักษา เนื่องจากการที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากโรคโควิด-19 ถือเป็นความบกพร่องและความรับผิดชอบของรัฐซึ่งมีหน้าที่ดูแลงานด้านสาธารณสุขให้กับประชาชนมีความปลอดภัยจากโรคระบาด เมื่อรัฐมีความบกพร่องจึงต้องมีมาตรการในการเยียวยา จึงเห็นว่ารัฐควรจะตั้งกองทุนเฉพาะกิจขึ้นมาโดยอนุมัติเงินจำนวนหนึ่งเพื่อใช้ในการเยียวยาผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ไม่ว่าจะเสียชีวิตระหว่างการรักษาของแพทย์หรือผู้เสียชีวิตที่ยังไม่ได้เข้ารับการรักษาก็ตาม ซึ่งจะทำให้แพทย์เองก็มีความสบายใจในการที่จะดูแลรักษาผู้ป่วย ขณะที่ญาติของผู้เสียชีวิตก็ได้รับการชดเชยเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการสูญเสียได้ระดับหนึ่ง ไม่ใช่ปล่อยให้คนตายรายวัน โดยที่ไม่มีความรับผิดชอบใดๆ จากรัฐเหมือนที่เป็นอยู่ขณะนี้