“ดร.เผ่าภูมิ” ชี้หนี้ครัวเรือนเข้าภาวะฉุกเฉิน ทั้งหนัก เน่า นอกระบบ จี้ต้องทำ 5 แนวทางแก้ด่วน

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์นโยบาย พท. แถลงข่าวถึงภาวะฉุกเฉินหนี้ครัวเรือนไทย โดยระบุว่าหนี้ครัวเรือนไทยทั้งหนัก เน่า และนอกระบบ ดังนี้

  1. “หนัก” : หนี้ครัวเรือนสิ้นไตรมาส 1/64 อยู่ที่ 14.128 ล้านล้านบาท (90.5% ของ GDP) ตัวเลขนี้ยังไม่ได้สะท้อนผลจากการระบาดระลอก 2,3,4 รวมถึงระลอก 5 (ถ้ามี) ศูนย์นโยบาย พท. ประเมินหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ณ Q4/64 จะอยู่ที่ 92-93% ในกรณีที่ไม่มีระลอก 5 และอยู่ที่ 93-94% ในกรณีที่มีระลอก 5 นี่คือตัวเลขที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย ตั้งแต่มีการรายงาน รัฐบาลทำลายสถิติตนเองทุกปี สูงสุดในประเทศกำลังพัฒนา สูงกว่าอินโดนีเซียราว 5 เท่าตัว กัมพูชาราว 3 เท่าตัว และเป็นกว่า 2 เท่าตัวของรัฐบาล ดร.ทักษิณ ซึ่งอยู่ที่ราว 43% เท่านั้น และแนวโน้มสูงขึ้นแบบไม่มีที่สิ้นสุด เข้าสู่ภาวะฉุกเฉินของหนี้ครัวเรือน เรียกได้ว่า “คนไทยจนทุกที่ มีหนี้ทุกหย่อมหญ้า”
  2. “เน่า” : ไส้ในของหนี้ครัวเรือนก็เข้าขั้นฉุกเฉิน ในยอดรวมหนี้กว่า 14 ล้านล้านบาท เป็นหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลถึงกว่า 10.8 ล้านล้านบาท นั่นคือ เกือบ 80% ของหนี้ไม่สร้างรายได้ คุณภาพของสินเชื่อภาคครัวเรือนจึงต่ำ มีโอกาสเป็นหนี้เสียจึงสูง โครงสร้างแบบนี้อันตราย อีกทั้งไทยประสบภาวะหนี้ครัวเรือนสูงกว่าหนี้ธุรกิจซึ่งอยู่ที่ 9.5 ล้านล้านบาทอยู่มาก การอุปโภคบริโภคมากกว่าการลงทุนภาคเอกชน เท่ากับประเทศไทยถอยหลังลงคลองในมิติของการพัฒนา
  3. “นอกระบบ” : หนี้ครัวเรือนนั้นไม่รวมหนี้นอกระบบ เมื่อเศรษฐกิจแย่ คนตกงาน ไม่มีรายได้ ความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น แต่การให้สินเชื่อถูกจำกัด กอปรกับภาคบริการมีลักษณะเป็นธุรกิจนอกระบบสูง ทำให้ไทยประสบปัญหาที่ใหญ่กว่า นั่นคือ “หนี้ในระบบไหลสู่หนี้นอกระบบ” โดยหนี้นอกระบบต้องแก้ด้วยกลไกดึงหนี้เข้าสู่ระบบ ไม่ใช่ใช้กฎหมายแก้ที่ปลายเหตุเหมือนที่รัฐบาลทำ
  4. ในภาวะฉุกเฉิน ในระยะสั้นรัฐบาลต้อง
    4.1. ยืดและพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยทั้งระบบขนาดใหญ่ในวงกว้างในธุรกิจภาคบริการ และรายย่อย ตลอดช่วงเวลาฉุกเฉินทันที โดยรัฐบาลต้องชดเชยส่วนต่างและรายจ่ายดอกเบี้ยไปที่ธนาคารพาณิชย์ เพื่อทำให้การพักหนี้ในวงกว้างเกิดขึ้นจริง ไม่ใช่แค่พักหนี้แบบนามธรรมเหมือนที่ผ่านมา
    4.2. ผ่อนคลายและกระจายสินเชื่อในระบบทันที เพื่อป้องกันภาวะหนี้ในระบบไหลสู่นอกระบบ
    4.3. หยุดเลือดการตกงานด้วยมาตรการคงการจ้างงานทันที และหยุดเลือดธุรกิจล้มโดยยกเลิกมาตรการพักทรัพย์พักหนี้และโอนวงเงินสู่ Soft Loan ผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐทันที
    4.4. ลดภาระรายจ่ายครัวเรือนรายเดือนอย่างต่อเนื่องตลอดภาวะฉุกฉินทันที
    4.5. ขยายกลไกสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดของกระทรวงการคลังทันที เพื่อดึงหนี้นอกระบบกลับสู่ในระบบ สนับสนุนและอุดหนุนกลไก Non-Bank ป้องกันการเกิดหนี้นอกระบบใหม่ทันที