“วิชาญ มีนชัยนันท์” ประธานภาคกรุงเทพฯ พรรคเพื่อไทย เสนอแนวคิดสร้างคลองระบายน้ำบายพาสขนาดใหญ่หน้ากว้าง 300 เมตร ยาว 157 ก.ม.ระบายน้ำตรงจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาสู่อ่าวไทย พร้อมจัดรูปที่ดินให้เอกชนร่วมลงทุน แก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฝั่งตะวันออกอย่างยั่งยืน

นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานภาคกรุงเทพฯ พรรคเพื่อไทย เสนอแนวคิดสร้างคลองระบายน้ำบายพาสขนาดใหญ่ ต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฝั่งตะวันออกอย่างยั่งยืนด้วยแนวคิดการจัดทำคลองระบายน้ำบายพาสขนาดใหญ่บนพื้นที่ฟลัดเวย์ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งหมดรวมถึงกรุงเทพมหานคร โดยนายวิชาญ กล่าวว่าคลองระบายน้ำบายพาสขนาดใหญ่นี้จะมีความกว้าง 300 เมตร มีชานคลองกว้างอีกด้านละ 100 เมตรเพื่อทำการเกษตร มีถนนสองข้างคลองข้างละ 6 เลน มีความยาวประมาณ 157 กิโลเมตร รองรับน้ำท่วมจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดอ่างทอง และแม่น้ำป่าสักที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แนวเส้นทางคลองระบายน้ำบายพาส จะผ่านจังหวัดปทุมธานี ผ่านพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานครบริเวณแนวฟลัดเวย์ และผ่านจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อนำน้ำลงสู่ทะเลอ่าวไทยอย่างรวดเร็วไม่น้อยกว่า 2,500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที คลองระบายน้ำบายพาสนี้ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 7 ปี โดยคลองระบายน้ำบายพาสนี้จะเป็นคลองป้องกันน้ำท่วมน้ำหลากด้านทิศเหนือของกรุงเทพ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่อยู่เหนือกรุงเทพทั้งหมด ตั้งแต่ลพบุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร ตลอดจนสมุทรปราการ และรวมถึงกรุงเทพมหานคร รวมทั้งยังใช้พื้นที่สองฝั่งคลองเพาะปลูกเกษตรกรรม ขนส่ง สวนสาธารณะ สันทนาการท่องเที่ยวทางน้ำตลอดจนขนส่งโลจิสติกส์ทางน้ำและทางถนนได้ในเวลาเดียวกัน
.
นายวิชาญ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการจัดทำคลองระบายน้ำบายพาสนี้ คณะกรรมการฯ เสนอให้ใช้วิธีการ “จัดรูปที่ดิน” ตาม พ.ร.บ.จัดรูปที่ดินเพื่อการพัฒนาพื้นที่ พ.ศ.2547 แทนการเวนคืนที่ดิน เนื่องจากสามารถที่จะดำเนินการได้โดยความยินยอมของเจ้าของที่ดิน 2 ใน 3 มีภาครัฐจะเป็นผู้ให้การสนับสนุน ช่วยลดการใช้งบประมาณภาครัฐในเวนคืนที่ดิน ซึ่งเมื่อจัดรูปที่ดินเสร็จเเล้ว จะทำให้มูลค่าที่ดินจะสูงขึ้น จึงคาดว่าจะได้รับความร่วมมือจากเจ้าของที่ดินมากกว่าวิธีการเวนคืน ซึ่งผลการศึกษาและข้อเสนอดังกล่าวของคณะกรรมการนี้ จะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาและส่งให้กรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครบริเวณพื้นที่ฟลัดเวย์ของกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออกต่อไป