เพื่อไทยลงช่วยน้ำท่วมมหาสารคามจุดน้ำท่วมซ้ำซาก ชี้ประชาชนถูกพรากโอกาสเหตุทหารยึดอำนาจแช่แข็งประเทศไทย หากแผนน้ำเสร็จประเทศจะไม่เดินมาถึงจุดนี้
พรรคเพื่อไทยนำโดยนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายจิรวัฒน์ ศิริพาณิชย์ ส.ส.มหาสารคาม รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายกิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ส.ส.มหาสารคาม นายไชยวัฒนา ติณรัตน์ ส.ส.มหาสารคาม นางสาวอรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ลงพื้นที่มอบถุงยังชีพกว่า 400 ชุดให้กับพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่อำเภอโกสุมพิสัย และอำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม
นายประเสริฐ กล่าวว่า เป็นห่วงพี่น้องประชาชนในบ้านดอนน้อย ตำบลโพนงาม อำเภอโกสุมพิสัย ซึ่งถูกน้ำท่วมใหญ่ทุกๆ4-5 ปี ซึ่งชาวบ้านบอกว่าน้ำท่วมในครั้งนี้มาจากแม่น้ำชี จังหวัดชัยภูมิ มาสมทบน้ำที่ระบายมาจากเขื่อนอุบลรัตน์จนเข้าท่วมพื้นที่ ซึ่งน้ำมาเร็วและแรง มวลน้ำอยู่ที่ 20 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ท่วมนานกว่า 2 สัปดาห์แล้ว พื้นที่การเกษตรอย่างนาข้าวหอมมะลิ 30,000 ไร่เสียหาย และยังไม่มีมาตรการเยียวยาที่ชัดเจนจากภาครัฐ ทั้งนี้รัฐบาลควรมีมาตรการแก้ไขปัญหาระยะสั้นในเบื้องต้น โดยต้องประสานกรมชลประทานเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด หากปล่อยให้น้ำระบายออกจากพื้นที่ตามธรรมชาติจะกินเวลามากกว่า 2 สัปดาห์กว่าน้ำจะลด ซึ่งในการเปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ พรรคเพื่อไทยจะนำประเด็นเรื่องการบริหารจัดการน้ำและการเยียวยาความเสียหายจากอุทกภัยเข้าหารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเร่งช่วยเหลือพี่น้องประชาชนโดยเร็ว ส่วนในระยะยาวจะผลักดันแผนบริหารจัดการน้ำ โขง ชีมูล ของรัฐบาลสมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้รัฐบาลนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป
ด้านนายจิรวัฒน์ กล่าวว่า ชาวบ้านในหลายพื้นที่เริ่มประสบกับภาวะด้านสาธารณสุข เช่นโรคน้ำกัดเท้า โรคฉี่หนู จึงขอเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฝ่ายบริหาร เร่งลงพื้นที่ดูแลประชาชนด้วย และขอฝากถึงรัฐบาลให้เร่งแก้ไขปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะราคาข้าวตกต่ำ ซึ่งไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ต้องแบกรับภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นทุกวันนับตั้งแต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารประเทศ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวนาแตกต่างจากในอดีตเป็นอย่างมาก
นางสาวอรุณี กล่าวว่าน้ำท่วมในประเทศไทยแท้จริงแล้วมีทางออก แต่ทางออกนั้นคนทำกลับถูกยึดอำนาจไป ฉุดพรากโอกาสของคนไทยและประเทศไทยให้หายวับไปกับตา หากวันนั้นได้ทำสำเร็จ วันนี้ประเทศไทยคงหมดปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งไปเกือบสมบูรณ์ไปตั้งแต่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ชีวิตประชาชนจะปลอดภัย เศรษฐกิจไทยจะเติบโต โดยวิธีการแก้น้ำท่วม-น้ำแล้งอย่างเป็นระบบครบวงจร ถูกทำเป็นยุทธศาสตร์แผนการวางระบบการบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศไทย ตามกรอบวงเงินไม่เกิน 3.5 แสนล้านบาท ปี 2555 สมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือเพียงปีเดียวหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ประเทศไทยปี 2554 ทั้งนี้ เพราะเรื่องน้ำเป็นโครงสร้างพื้นฐานของชาติ เป็นหน้าที่รัฐบาลจะต้องดูแล และปรับปรุงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดอย่างเร่งด่วน ซึ่งหากทำได้ตามแผนที่วางไว้ จะสามารถเพิ่มปริมาณการเก็บรักษาน้ำให้พอใช้ตลอดปี และสามารเร่งระบายน้ำออกไปจากพื้นที่สำคัญได้อย่างรวดเร็วเมื่อจำเป็น ความเสี่ยงของภัยแล้งรุนแรง และอุทกภัยที่สร้างความเดือดร้อนไม่เว้นแต่ละปีจะหมดไปเกือบสมบูรณ์ตั้งแต่ปี 2560
นางสาวอรุณี กล่าวอีกว่า ยกตัวอย่างแผนส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์จัดการน้ำ ในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา มีแผนแก้จากต้นเหตุด้วย 3 โครงการใหญ่ คือ
1.ฟลัดเวย์เจ้าพระยา 2 หากทำเสร็จ น้ำจะไม่ท่วมซ้ำซากที่นครสวรรค์ อุทัยธานี และชัยนาท เราจะมีเส้นทางด่วนยาว 150 กม. ผันน้ำจากนครสวรรค์ออกอ่าวไทยฝั่งตะวันตก เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
2.ฟลัดเวย์เจ้าพระยา 3 น้ำจะไม่ตุงและท่วมซ้ำซากที่อยุธยา ด้วยการขุดคลองใหม่สายสั้นเป็นทางตัดตรง จากบางบาลถึงบางไทร ช่วยการระบายน้ำผ่านตัวจังหวัด ลดเวลาน้ำท่วมพื้นที่เกษตกรรม ปกป้องพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม
3.โครงการชะลอน้ำยมแถบจังหวัดแพร่ จะช่วยปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากสุโขทัย ด้วยการสร้างทางเบี่ยงลดปริมาณน้ำไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัย ตรงประตูน้ำหาดสะพานจันทร์ อ.สวรรคโลก และพัฒนาคูคลองเดิมผันน้ำเข้าแก้มลิง
ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ด้านการวางระบบบริหารจัดการมีทั้งหมด 9 โมดูล 3 แผนงาน ใช้งบประมาณ 2.9 แสนล้านบาท ต่ำกว่าวงเงินที่กำหนดไว้ 5 หมื่นล้านบาท แม้ต่อมาอีก 5 ปีให้หลัง รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้นำแผนเจ้าพระยา 3 หรือคลองสายสั้น 22 กม. บางบาล-บางไทร กลับมาทำอีกครั้ง แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่แล้วเสร็จ คลองเส้นนี้จึงทั้งประมูลแพงกว่า และดำเนินการได้ช้ากว่าเดิม