24 กุมภาพันธ์ 2549 ทักษิณยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน

“เมื่อปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นความคิดเห็นในสังคมที่หลากหลาย และยังคงแตกต่างกันจนกลายเป็นความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงเช่นนี้ ครั้นจะดำเนินการเพื่อตรวจสอบความประสงค์อันแท้จริงของประชาชน โดยประการอื่น เพื่อให้ทุกฝ่ายหยั่งทราบ แล้วยอมรับให้เป็นไปตามกลไกในระบอบประชาธิปไตยก็ทำได้ยาก ทางออกในระบอบประชาธิปไตยที่เคยปฏิบัติมาในนานาประเทศและแม้แต่ในประเทศไทย คือการคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมือง กลับไปสู่ประชาชนด้วยการยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปขึ้นใหม่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป” ความตอนหนึ่งในแถลงการณ์สำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 เรื่องการยุบสภาผู้แทนราษฎร
.
หลังเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงรัฐบาลไทยรักไทยสมัยที่สอง ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จึงตัดสินใจยุบสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นการคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองกลับไปให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงเป็นผู้ตัดสินใจความขัดแย้งและปัญหานั้นว่าสมควรยุติลงเช่นใด และเมื่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดได้ตัดสินด้วยการเลือกตั้งใหม่ที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 เมษายน 2549 แล้ว ทุกฝ่ายควรเคารพในฉันทามติของประชาชน

แต่สถานการณ์กลับตึงเครียดมากขึ้น เมื่อพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้ประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้ง ด้วยการไม่ส่งผู้สมัคร ส.ส. ลงเลือกตั้ง ขณะที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประกาศไม่ยอมรับการยุบสภาและยังคงเดินหน้าจัดการชุมนุมต่อไป ต่อมาการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ด้วยเหตุ

(1) การกำหนดวันเลือกตั้งไม่เหมาะสมและไม่เที่ยงธรรม โดยกำหนดวันเลือกตั้งห่างจากการยุบสภาเพียง 35 วัน
(2) กกต.กำหนดการจัดคูหาในลักษณะที่บุคคลภายนอกสามารถสังเกตเห็นได้ว่าผู้เลือกตั้งใช้สิทธิ์เลือกตั้งหมายเลขใด ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง ในวันที่ 15 ตุลาคม 2549

แต่หลังจากนั้นไม่นานนัก ก็เกิดการรัฐประหารขึ้นในวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการทำลายประชาธิปไตยประเทศไทยในยุคหลัง และนำมาสู่ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
.
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2549 หน้า 2
https://www.matichonweekly.com/featured/article_23408