12-14 เม.ย. 2552 สงกรานต์เลือดปฐมบทความรุนแรงต่อ พี่น้องคนเสื้อแดง

“สงกรานต์เลือด” เมษายน 2552 เหตุการณ์ตั้งต้นที่นำไปสู่ความรุนแรงที่รัฐกระทำกับประชาชน ปฐมบทการกดปราบประชาชนด้วยอาวุธและกระสุนจริงในห้วงวิกฤตความขัดแย้งยุคนี้ และบทเรียนสำคัญที่อำนาจรัฐ เบี่ยงเบนประเด็น สร้างภาพความรุนแรงให้กับประชาชนที่ต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย
.
ย้อนไปหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคพลังประชาชนเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 จนทำให้เกิดการสลับขั้วทางการเมืองของกลุ่มเพื่อนเนวินที่หันไปสนับสนุนอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่พรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้นไม่ได้รับชัยชนะในเลือกตั้งจากประชาชนเป็นอันดับหนึ่ง รวมทั้งกระแสข่าวการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ผู้นำกองทัพเข้ามามีส่วนร่วมในการล็อบบี้แกนนำพรรคการเมืองขนาดเล็กให้สนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยจำนวนมากและกลุ่มคนเสื้อแดง มองว่า การขึ้นสู่อำนาจรัฐของรัฐบาลขณะนั้นขาดความชอบธรรม ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนตามกติกาประชาธิปไตย
.
ความไม่พอใจของพี่น้องคนเสื้อแดงค่อยๆ ร้อนระอุขึ้นเรื่อยๆ กระทั่ง 25 มีนาคม 2552 แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นำโดย วีระ มุสิกพงศ์ จตุพร พรหมพันธ์ุ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จักรภพ เพ็ญแข และ นพ.เหวง โตจิราการ ได้เริ่มการชุมนุม ‘แดงทั้งแผ่นดิน’ ณ ท้องสนามหลวง ก่อนจะเคลื่อนการชุมชุนมายังข้างทำเนียบรัฐบาล
.
สถานการณ์ในขณะนั้นสื่อมวลชนได้ประเมินกันว่าเป็นการชุมนุมที่มีประชาชนเข้าร่วมชุมนุมมากที่สุดถึง 300,000 คน ภายใต้ข้อเรียกร้อง ที่ประกอบด้วย
1. พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ต้องลาออกจากตำแหน่งองคมนตรี
2. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
3. การบริหารราชการแผ่นดินต้องดำเนินไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยตามหลักสากล

โดยยื่นคำขาดให้รัฐบาลตอบภายใน 24 ชั่วโมง
.
เมื่อครบกำหนด 24 ชั่วโมง 9 เมษายน 2552 คนเสื้อแดงจึงขยายการชุมนุมไปบริเวณหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ ซึ่งในวันเดียวกันกลุ่มแท็กซี่เสื้อแดง ก็ได้ปิดถนนประท้วงรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แต่กลับถูกสื่อหลักวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าทำให้การจราจรติดขัดในช่วงที่ผู้คนกำลังเดินทางกลับบ้านช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมถึงถูกป้ายสีว่าปิดทางเข้าโรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งต่อมาแกนนำ นปช. ได้ประสานกับกลุ่มแท็กซี่ขอให้ยุติการชุมนุมในคืนนั้นทันที พร้อมขอความร่วมมือมวลชนให้กลับไปรวมตัวกันที่ข้างทำเนียบรัฐบาลจุดเดียว
.
ขณะเดียวกัน การชุมนุมของกลุ่มพี่น้องคนเสื้อแดงไม่ได้จำกัดแค่เพียงในกรุงเทพฯ เท่านั้น 10 เมษายน 2552 กลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งนำโดย อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง ได้เดินทางไปยังโรงแรมรอยัล คลีฟ บีช รีสอร์ท พัทยา สถานที่จัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน เพื่อยื่นหนังสือต่อตัวแทนเลขาธิการอาเซียน ว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่มีความชอบธรรมในการบริหารประเทศ แต่กลับเกิดเหตุปะทะกับกองกำลังจัดตั้งเสื้อสีน้ำเงิน ซึ่งปรากฎภาพและข้อมูลผ่านสื่อมวลชนเชื่อมโยงไปถึงกลุ่มเพื่อนเนวิน
.
เหตุการณ์กลุ่มคนเสื้อสีน้ำเงินปะทะกับคนเสื้อแดง และการตัดสินใจยกเลิกการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ฝ่ายรัฐบาลยกขึ้นมาเป็นเงื่อนไขในการอ้างเพื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตพื้นที่เมืองพัทยาและจังหวัดชลบุรี
.
12 เมษายน 2552 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เมื่อรัฐเลือกบีบคั้นเพิ่มความตึงเครียดแทนการเจรจา กลุ่มคนเสื้อแดงนำโดย สุพร อัตถาวงศ์ ได้เดินทางไปคัดค้านการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อสลายการชุมนุมที่กระทรวงมหาดไทย ในวันนั้นได้เกิดเหตุล้อมรถยนต์อภิสิทธิ์ และปรากฎภาพของคนเสื้อแดงทุบรถอภิสิทธิ์เป็นหนึ่งในภาพที่ถูกใช้ทำลายภาพลักษณ์ ลดทอนความหมายของการต่อสู้ของกลุ่มคนเสื้อแดงจนถึงในปัจจุบัน
.
ต่อมา 13 เมษายน 2552 กำลังทหารนำโดย พล.ต.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 ได้เคลื่อนกำลังเข้าสลายการชุมนุมที่บริเวณแยกดินแดง ฝ่ายคนเสื้อแดงได้ยึดรถเมล์และยางรถยนต์เพื่อสร้างแนวป้องกัน นับว่าเป็นครั้งแรกภายใต้รัฐบาลที่นำโดยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ได้มีการสั่งการให้สลายการชุมนุมของประชาชน โดยใช้กำลังทหารและกระสุนจริงกับประชาชน
.
#ณวันนั้น มีผู้ได้รับบาดเจ็บมากถึง 70 คน และผู้ชุมนุมยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิต แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์กลับกล่าวอ้างว่าการสลายการชุมนุมครั้งนั้นไม่มีผู้เสียชีวิต แม้จะมีการพบศพของ 2 พนักงานรักษาความปลอดภัยลอยอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ในวันที่ 15 เมษายน 2552 ในลักษณะที่มีผ้าขนหนูสีขาวมัดทับด้วยผ้าสีเหลืองปิดปากไว้แน่น ส่วนมือทั้งสองข้างถูกเชือกไนลอนสีน้ำเงินมัดไพล่หลัง โดยมีการยืนยันว่าทั้งสองท่านได้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดง เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจวินิจฉัยว่า ถูกฆาตกรรมด้วยสาเหตุทางการเมือง แม้จะผ่านมานานกว่า 12 ปี จนถึงขณะนี้คดียังไม่คืบหน้าและยังไม่มีการสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิด
.
ความรุนแรงที่ทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากรัฐปฏิบัติกับประชาชนอย่างไร้มนุษยธรรม กระทั่งในวันที่ 14 เมษายน 2552 แกนนำผู้ชุมนุมจำต้องประกาศยุติการชุมนุม ในเวลาประมาณ 10.00 น. เพื่อป้องกันการสูญเสียของประชาชนที่จะเพิ่มขึ้นจากการปราบปรามของรัฐบาล และแกนนำได้เข้ามอบตัวต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อเป็นการปกป้องชีวิตของพี่น้องประชาชนจากความรุนแรงต่อรัฐและการบิดเบือนความจริงด้วยเครื่องมือและกลไกต่างๆ
.
‘สงกรานต์เลือด’ สะท้อนเจตนาที่รัฐต้องการจะใช้กำลังทหารและอาวุธสงครามเพื่อสลายการชุมนุมของประชาชน รวมทั้งข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานยังทำให้เห็นไปถึงความพยายามในการบิดเบือนความจริง อำพราง สร้างภาพความรุนแรงให้กับการชุมนุมและผู้ชุมนุม จนบดบังหัวใจหลักของข้อเรียกร้องและเหตุผลของการเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ความยุติธรรมและประชาธิปไตย เพื่อสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงกับประชาชน ประหนึ่งใบอนุญาตฆ่า
.
สดุดีแด่วีรชนคนกล้าผู้เสียสละ
.
ที่มา หนังสือพิมพ์ สยามรัฐ ฉบับวันที่ 14 เมษายน 2552
https://prachatai.com/journal/2013/04/46352