บาดแผล การต่อสู้ เพื่อประชาธิปไตย ยิ่งลักษณ์ ปาฐกถา ณ มองโกเลีย

8 ปีที่แล้ว เมื่อครั้งที่ประเทศไทยมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญเป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย พรรคการเมืองที่มีจำนวนผู้แทนมากที่สุดในสภาได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยในเวลานั้นได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่าเป็นผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย
.
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมประชาคมประชาธิปไตยที่เมืองอูลานบาตอร์ ประเทศมองโกเลีย ในวันที่ 27-29 เมษายน 2556
.
#ณวันนั้น สิ่งที่โดดเด่นและได้รับการกล่าวขานต่อเนื่อง คือการปาฐกถาพิเศษของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรีประเทศไทย ซึ่งได้สะท้อนบริบทประชาธิปไตยในประเทศไทยที่แต่ละก้าวของการต่อสู้ล้วนต้องแลกมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิตของประชาชน เพราะยังมีคนที่ไม่เชื่อในประชาธิปไตยใช้กำลังกดขี่เสรีภาพประชาชนด้วยการรัฐประหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาตลอด 80 ปี ของบริบทการเมืองไทยหากนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
.
ยิ่งลักษณ์ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ทางการเมืองที่เป็นอุทาหรณ์ของเธอว่า ครั้งหนึ่งประเทศไทยเคยมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 ที่เราล้วนหวังว่านี่คือจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตย ประเทศไทยมีรัฐบาลที่มีจากการเลือกตั้งแต่ก็เกิดการรัฐประหารล้มรัฐบาล มีประชาชนจำนวนมากไม่ยอมจำนนและลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ แต่สุดท้ายเกิดการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงจนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 91 คน ในปี 2553

ปาฐกถาดังกล่าว ได้ชี้ให้เห็นการต่อสู้ของคนไทย แม้ว่ารัฐธรรมนูญ 2550 จะร่างขึ้นในรัฐบาลภายใต้คณะรัฐประหาร ซึ่งได้ใส่กลไกเพื่อตีกรอบเพื่อจำกัดความเป็นประชาธิปไตย โดยครึ่งหนึ่งของวุฒิสภาไทย (ในเวลานั้น) มาจากการเลือกตั้ง แต่อีกครึ่งหนึ่งกลับได้รับการแต่งตั้งโดยกลุ่มคนเล็กๆ

ยิ่งลักษณ์ กล่าวปิดท้ายด้วยว่า ต้องการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในประเทศไทยและพัฒนาประชาธิปไตยของไทยให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ด้วยหลักนิติธรรมและกระบวนการทางกฎหมายที่แข็งแรง และประชาธิปไตยจะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาประเทศ พัฒนาความเป็นอยู่ ลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างแท้จริง
.
สามารถอ่านเนื้อหาของปาฐกถาพิเศษครั้งนี้ได้ที่ https://www.facebook.com/notes/819632452119359
.
ปาฐกถาดังกล่าวสะท้อนถึงภาพของประชาธิปไตยไทย ที่ประชาชนต้องต่อสู้ให้ได้มาเพื่อสิทธิเสรีภาพ และเป็นการเชิดชูประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันกับพัฒนาการประชาธิปไตยทั่วโลก รวมถึงเป็นการวิพากษ์รัฐธรรมนูญไทยในตอนนั้นที่ลดทอนความเป็นประชาธิปไตย เป็นการแสดงวิสัยทัศน์และความตั้งใจที่จะดำรงประชาธิปไตยของไทยให้ยั่งยืน ของอดีตนายกรัฐมนตรี
.
ปาฐกถาครั้งนั้นได้สร้างความไม่พอใจให้กับขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่พยายามออกมาปกป้องการรัฐประหารและเผด็จการ ราวกับไม่เชื่อในประชาธิปไตย รวมถึงสร้างวาทกรรมขึ้นมาตอบโต้ กล่าวหาอย่างรุนแรงว่าเป็นการขายชาติ สร้างความเสื่อมเสีย หรือแม้แต่พยายามดิสเครดิตอดีตนายกรัฐมนตรีในเรื่องส่วนตัวด้วยวิธีการต่างๆ

แม้แต่สมาชิกพรรคการเมืองเก่าแก่ ยังพาเหรดกันออกมาโวยวายว่า อดีตนายกรัฐมนตรีไม่ได้เขียนสุนทรพจน์ดังกล่าวด้วยตัวเอง พร้อมกับอ้างว่าการรัฐประหารไม่ได้ทำให้ประเทศเหมือนรถไฟตกรางไปถึง 10 ปี แต่การกระทำดังกล่าวถูกประเมินว่าเป็นเพียงความตั้งใจที่จะเบี่ยงประเด็นของกลุ่มการเมืองที่มีส่วนร่วมกับการรัฐประหาร ที่ไม่สามารถโต้แย้งด้วยเหตุผลและหลักการประชาธิปไตย จึงทำได้เพียงแค่สร้างวาทกรรมมาโจมตีทางการเมือง เบี่ยงประเด็นไปเรื่องอื่นที่ล้วนแล้วแต่ไม่มีสาระสำคัญ
.
หากมองย้อนจากปัจจุบันไปสู่ปาฐกถาในครั้งนั้น จะเห็นได้ถึงการเดินทางของประชาธิปไตยประเทศไทยมากยิ่งขึ้นว่าได้ถูกทำลายมาโดยตลอด โดยเฉพาะภายใน 20 ปีให้หลังมานี้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนต้องถูกรัฐประหาร รัฐธรรมนูญซ่อนกลไกของการสืบทอดอำนาจเผด็จการ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นความพยายามในการลดทอนความเป็นประชาธิปไตย แม้จะมีบาดแผลและความเจ็บปวดเกิดขึ้น แต่อุดมการณ์ประชาธิปไตยยังคงงดงามและเติบโตสู่คนรุ่นหลัง ดังเช่นทุกวันนี้ที่ยังคงมีการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่แท้จริง
.
ที่มา :
https://www.posttoday.com/politic/news/219339
https://www.naewna.com/politic/50469
https://www.thairath.co.th/content/341963
https://www.facebook.com/notes/819632452119359/