ศาล รธน. สั่งให้การเลือกตั้ง 2 เม.ย. 49 เป็นโมฆะ

เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการชุมนุมยืดเยื้อของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและการสร้างเงื่อนไขต่างๆ จนจะนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองที่ลุกลามบานปลาย ในช่วงปลายปี 2548 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2549 ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จึงได้ตัดสินใจยุบสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 คืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองแก่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย โดยจะมีการเลือกตั้งใหม่วันที่ 2 เมษายน 2549
.
แต่สถานการณ์กลับตึงเครียดมากขึ้น เมื่อพรรคร่วมฝ่ายค้านประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้งด้วยการไม่ส่งผู้สมัคร ส.ส.ลงสมัครรับเลือกตั้ง กดดันให้ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนการยุบสภา พร้อมกับเริ่มแสดงออกซึ่งความต้องการที่จะได้มาซึ่งการขอพระราชทานแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ ขณะที่กลุ่มพันธมิตรฯ ประกาศไม่ยอมรับการยุบสภาและเดินหน้าจัดการชุมนุมมาอย่างต่อเนื่อง
.
ขณะที่ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ยืนยันว่าหากการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 ไทยรักไทยได้คะแนนเสียงน้อยกว่า 50% ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง จะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งข้อเสนอนี้น่าจะสามารถคลี่คลายความตึงเครียดทางการเมืองได้ระดับหนึ่ง
.
เมื่อวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 มาถึง ปรากฎว่ามีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 29 ล้านเสียง ไทยรักไทยได้รับคะแนนเสียง 16.43 ล้านเสียง ซึ่งเกิน 50% ของผู้มาใช้สิทธิตามแถลงการณ์ของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร แต่เพราะมีผู้ไม่ออกเสียง (no vote) จำนวนมาก ทำให้ในที่สุด ดร.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ขอทำหน้าที่เป็น ส.ส. และ หัวหน้าพรรคไทยรักไทยต่อไป
.
แต่เรื่องราวไม่จบเท่านั้น ต่อมามีการยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา โดย บรรเจิด สิงคะเนติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ พล.อ.สายหยุด เกิดผล ประธานมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) ให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยได้ส่งคำร้องมา 4 ประเด็นคือ
.
1) การกำหนดวันเลือกตั้งไม่เหมาะสมและไม่เที่ยงธรรม โดยกำหนดวันเลือกตั้งห่างจากการยุบสภาเพียง 35 วัน
.
2) การจัดคูหาเลือกตั้งให้ผู้เลือกตั้ง ‘หันหน้า’ เข้าคูหาลงคะแนน และ ‘หันหลัง’ ให้คณะกรรมการประจำหน่วยการเลือกตั้ง เท่ากับเป็นการละเมิดหลักการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับหรือไม่
.
3) ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีพรรคการเมืองใหญ่ว่าจ้างผู้สมัครจากพรรคการเมืองเล็กลงสมัครการเลือกตั้ง
.
4) กกต. พิจารณารับรองผลการเลือกตั้งโดยไม่ได้ประชุมหารือครบองค์ประชุม เป็นการขัดต่อกฎหมายหรือไม่
.
แต่ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะดำเนินการพิจารณาวินิจฉัยกรณีนี้ ได้เกิดปรากฏการณ์หลายอย่างขึ้นกับการเมืองไทย ซึ่งในเวลาต่อมานักวิชาการและสื่อมวลชนเรียกกันว่า “ตุลาการภิวัฒน์” โดยเฉพาะกรณีที่ประมุข 3 ศาล ประกอบด้วย นายผัน จันทรปาน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ปฎิบัติหน้าที่ประธาน ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายอัขราทร จุฬารัตน์ ประธาน ศาลปกครองสูงสุด และนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา ได้ประชุมกันเมื่อวันที่ 28 เมษายน เพื่อหาทางออกจากวิกฤตการเมือง
.
หลังจากนั้น ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ เนื่องจาก ‘คูหาไม่ปิดลับ’ และการกำหนดวันเลือกตั้งไม่ถูกต้อง ขณะที่ กกต. ที่จัดการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 จำนวน 3 คน ประกอบด้วย พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ, ปริญญา นาคฉัตรีย์ และ วีระชัย แนวบุญเนียร ถูกกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง โดยได้มีการยื่นฟ้องร้อง กกต. ต่อศาลอาญา ซึ่งต่อมาได้มีคำพิพากษาจำคุกโดยไม่รอลงอาญา กกต.ทั้ง 3 คน (วีระชัย เสียชีวิตวันที่ 21 ส.ค. 2555)
.
คำสั่งให้การเลือกตั้ง 2 เมษาฯเป็นโมฆะ นับเป็นจุดเริ่มต้นกำเนิด ‘ตุลาการภิวัฒน์’ ที่ทำให้หลายฝ่ายจับตาและวิพากษ์วิจารณ์กันในต่อมากับความเคลื่อนไหว ‘ศาล’ เล่นการเมือง
.
ที่มา:
หนังสือพิมพ์รายวัน มติชน วันที่ 9 พ.ค. 2549
บทความคมชัดลึกออนไลน์ : 8 พ.ค.2549 กำเนิดตุลาการภิวัฒน์
ประชาไท: 11 ปีดึง ‘ศาล’ เล่นการเมือง: โมฆะเลือกตั้ง ยุบพรรค ยึดทรัพย์ ถอดถอน ลิดรอนนโยบาย (ฟันจำนำข้าว)